svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

(คลิปข่าว) แฉยุทธศาสตร์! "บีอาร์เอ็น" อ้างไทยล่าอาณานิคม

14 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำหรับความเชื่อมโยงของประเด็น "ปาตานี 110" ที่อ้างสนธิสัญญาแองโกล-สยาม คือการพยายามตอกย้ำว่า "นครปาตานี" หรือ "หัวเมืองปัตตานี" ในอดีต สูญเสียเอกราชและอธิปไตยเพราะตกเป็นเมืองขึ้น (หรืออาณานิคม) ของสยาม โดยมีเหตุปัจจัยหนึ่ง คือสนธิสัญญาแองโกล-สยาม ที่แบ่งดินแดนมลายูออกเป็น 2 ส่วน และทำให้ "หัวเมืองปัตตานี" เป็นส่วนหนึ่งของสยาม หรือไทย อย่างถาวร

การตอกย้ำว่าปาตานีเป็น "รัฐอาณานิคม" ของไทย เป็นยุทธศาสตร์ของ "บีอาร์เอ็น" มาตลอด โดยสมัยที่แกนนำบีอาร์เอ็นร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพกับรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เคยออกแถลงการณ์ผ่านยูทูบ และยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ เรียกไทยว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" เพื่อตีตราไทยให้ประชาคมโลกว่าไทยเป็นเจ้าอาณานิคมของ "ปัตตานี" จะได้เข้าเกณฑ์ตามกฎบัตรสหประชาชาติในการขอใช้สิทธิ์ "กำหนดใจตนเอง" หรือ เซลฟ์ ดีเทอร์มิเนชั่น (Self Determination) เพื่อแยกดินแดน ตั้งรัฐใหม่

(คลิปข่าว) แฉยุทธศาสตร์! "บีอาร์เอ็น" อ้างไทยล่าอาณานิคม

"ล่าความจริง" ได้พูดคุยกับ อ.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง อาจารย์บอกว่า ประเด็น 110 ปีสนธิสัญญาแองโกล-สยาม ที่บีอาร์เอ็นหยิบขึ้นมาปลุกกระแส ก็เป็นมุมมองของบีอาร์เอ็น แต่ประเทศไทยและประชาคมโลกอาจไม่ได้คิดหรือมองแบบบีอาร์เอ็นก็ได้ โดยในความเห็นของ อ.ปณิธาน บอกว่า ความเป็นนคร หรือหัวเมืองของปัตตานีในอดีต ยังไม่เข้าเกณฑ์การเป็นรัฐ หรือราชอาณาจักรที่สมบูรณ์ และไม่ได้เป็นรัฐอาณานิคมของไทยในความหมายสากล ทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การขอใช้สิทธิ์กำหนดใจตนเอง

ยิ่งไปกว่านั้น การขอใช้สิทธิ์กำหนดใจตนเอง ต้องมีเงื่อนไขอื่นประกอบอีกมากพอสมควร เช่น การถูกกดขี่จากรัฐเจ้าอาณานิคม มีการส่งกำลังทหารเข้าไปปราบปรามอย่างรุนแรง เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งในส่วนของไทยไม่ได้มีพฤติกรรมเช่นนั้น และไทยก็ไม่ได้มีฐานะเป็น "เจ้าอาณานิคม" ด้วย ที่ผ่านมาองค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี รวมทั้งผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ ก็เคยลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ ก็พบว่าไม่มีการกดขี่ ห้ามการปฏิบัติศาสนกิจ หรือใช้ปฏิบัติการทางทหารด้วยความรุนแรงแต่อย่างใด ในทางกลับกัน บีอาร์เอ็นต่างหากที่ก่อความรุนแรงทำร้ายผู้บริสุทธิ์

(คลิปข่าว) แฉยุทธศาสตร์! "บีอาร์เอ็น" อ้างไทยล่าอาณานิคม

อ.ปณิธานยังฝากทิ้งท้ายด้วยว่า บีอาร์เอ็นนำเรื่อง 2 เรื่องไปปนกัน คือ สิทธิในการกำหนดใจตนเอง ซึ่งโดยปกติใช้ในการกำหนดรูปแบบการปกครองตนเอง หรือปกครองท้องถิ่น ไม่ใช่การแยกดินแดนตั้งรัฐใหม่ และการจะลงประชามติ ต้องได้รับความยินยอมจากประเทศแม่ ส่วนการแยกตัวตั้งรัฐใหม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มีเงื่อนไขต่างกันมาก เช่น รัฐต่างๆ ในสหภาพโซเวียต แยกตัวตั้งประเทศใหม่ ซึ่งเรื่องนั้นเป็นคนละเรื่องกับกรณีปัตตานีของไทย

logoline