svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(คลิปข่าว) 5 นักการเมืองรุ่นใหม่ ประชันนโยบายการศึกษา

06 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงนี้เวทีดีเบตนโยบายมีเยอะมาก แต่ความน่าสนใจของเวที หลายๆ ครั้งก็ไม่ใช่การเชิญนักการเมืองเบอร์ใหญ่มาร่วมแสดงความคิดเห็น เพราะบางเวทีก็กลายเป็นเวทีขยายความขัดแย้งไปเสียอย่างนั้น อย่างเวทีที่ทีมข่าวของเรา คุณภคนันท์ มุมาน ไปเกาะติดมาเมื่อวันก่อน เป็นเวที "นักการเมืองรุ่นใหม่ล้วนๆ" แถมคุยกันเรื่องการศึกษา แต่ผลออกมาน่าสนใจมาก

เวทีดีเบตนี้จัดขึ้นที่ลานกิจกรรมชั้น LG สยามสแควร์วัน โดย สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่าย มีจุดมุ่งหมายให้เป็นเวทีแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายด้านเด็กและเยาวชน หัวข้อ "มุมมอง New Gen พรรคการเมือง กับเรื่องปิดเทอมสร้างสรรค์" แม้หัวข้อจะเน้นไปที่เรื่องปิดเทอมสร้างสรรค์ แต่แนวคิดของนักการเมืองรุ่นใหม่ 5 คนจาก 5 พรรคการเมืองเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาถือว่าน่าสนใจ ขณะที่คำถามเรื่องปิดเทอมสร้างสรรค์ จะเป็นคำถามพื้นฐานที่ทุกคนต้องตอบ

เริ่มต้นที่ "วิว" เยาวภา บุรพลชัย จากพรรคชาติพัฒนา อดีตนักเทควันโดหญิงทีมชาติ เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก บอกว่า ประเทศไทยยังประสบปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และมีช่องว่างของเวลาระหว่างคนในครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่วัยใส เด็กติดเกม เด็กก้าวร้าว เด็กตีกัน และปัญหายาเสพติด เด็กและเยาวชนจำนวนมากยังขาดโอกาสทางการศึกษา ทั้งๆ ที่ทุกรัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรี ที่สำคัญคนพิการ เด็กพิเศษ และผู้ด้อยโอกาส ยิ่งยังขาดโอกาสทางการศึกษามากยิ่งขึ้น แม้แต่พื้นที่หาเสียงของเธอเอง ในเขตบางแค ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ยังพบปัญหาเหล่านี้

ทางแก้มี 2 ส่วนหลักๆ ซึ่งเป็นนโยบายที่จะใช้ทั่วประเทศ คือเรื่องการศึกษา และกีฬา

ส่วนโจทย์เรื่อง "ปิดเทอมสร้างสรรค์ควรจะเพิ่มกิจกรรมอะไร" คุณวิว เสนอแนวคิดกิจกรรมต่อยอดสิ่งที่เยาวชนสนใจ

ไปกันที่ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์บ้าง "น้องไอติม" พริษฐ์ วัชรสินธุ บอกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนคือการปฏิรูปการศึกษา ส่วนตัวมองว่ามี 6 ประการที่จะสามารถผลักดันในส่วนนี้ได้ มีอะไรบ้างไปฟังน้องไอติมกัน

ในส่วนของคำถามเรื่อง "ปิดเทอมสร้างสรรค์" ไอติม บอกว่า ต้องเน้นให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และควรเพิ่มสถานที่สร้างสรรค์ให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์

ข้ามไปพรรคพลังประชารัฐกันบ้าง ดอกเตอร์ ไกรเสริม โตทับเที่ยง มองต่างจากคนอื่น เพราะเห็นว่านโยบายแต่ละพรรคคล้ายๆ กันไปหมด ฉะนั้นพลังประชารัฐจึงมองต่าง ด้วยการมองไปนอกห้องเรียน

ในส่วนของคำถามที่ว่า "ปิดเทอมสร้างสรรค์ต้องส่งเสริมอะไร" ดอกเตอร์ ไกรเสริม ตอบกว้างๆ ว่า ทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ โดยพรรคพลังประชารัฐมีนโยบาย 50 สวนสาธารณะใน กทม. (1 เขต 1 สวน) ซึ่งก็สามารถใช้สวนนี้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนได้เหมือนกัน

ไปต่อกันที่พรรคเพื่อไทย "ปุ๊น" ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส อดีตศิลปิน และนักแต่งเพลงอิสระ แสดงวิสัยทัศน์ว่า ปัจจุบันเด็กไทยยังไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐมากเท่าที่ควร ส่วนตัวเคยลงพื้นที่สอบถามและพูดคุยกับเด็ก พบว่าเด็กมีความฝัน แต่ไม่มีโอกาส ครอบครัวเองก็ไม่ทราบว่าจะต้องผลักดันลูกหลานไปไหนทิศทางไหน หรือส่งเสริมอย่างไร ที่สำคัญคือพ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูก เพราะต้องทำงาน และนี่คือจุดเริ่มต้นของนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเสนอ

สำหรับคำถามเรื่องปิดเทอมสร้างสรรค์ ปุ๊น ตรีรัตน์ ย้ำแนวคิดของตนเองว่า ภาครัฐต้องส่งเสริมในสิ่งที่เด็กต้องการ คือสร้างศูนย์การเรียนรู้ เด็กสนใจอะไร ชอบสิ่งไหน ต้องได้ทำในสิ่งนั้น

ปิดท้ายที่พรรคอนาคตใหม่ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ แสดงวิสัยทัศน์ว่า พรรคจะเริ่มสร้างจากพื้นฐาน โดยของบ 30,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี เพื่อนำมายกระดับทั้งอุปกรณ์ บุคลากร ให้มีคุณภาพมากขี้น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็มีความสำคัญ ต้องทำให้แข็งแรงที่สุด

ในส่วนของคำถามเรื่อง "ปิดเทอมสร้างสรรค์" กุลธิดา บอกว่า มีรูปแบบที่หลากหลาย ต้องมีการกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่น ทั้งในแง่ทรัพยากรและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่หลากหลายรูปแบบ รวมถึงแนะนำอาชีพสำหรับเด็กและเยาวชน

นี่คือเวทีที่เต็มไปด้วยสาระล้วนๆ แทบไม่มีการเมืองปน ของนักการเมืองรุ่นใหม่เกี่ยวกับนโยบายการศึกษา หลายคนบอกว่าฟังแล้วรู้สึกประเทศมีความหวังขึ้นเยอะ

logoline