svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(คลิปข่าว) 5 แนวโน้มการเมืองไทยหลังวันพิพากษา 7 มี.ค.

06 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ไม่ได้มีแค่คำวินิจฉัยของศาลว่า "ยุบ" หรือ "ไม่ยุบ" เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวเนื่องไปถึงสถานการณ์การเมืองที่จะเกิดตามมาด้วย

แกนนำพรรค คุณจาตุรนต์ ฉายแสง เรียกร้องให้แฟนคลับและผู้สนับสนุนรอฟังคำวินิจฉัยที่บ้าน ไม่ต้องไปศาล เพื่อป้องกันเหตุแทรกซ้อน ซึ่งคำพูดคล้ายๆ กันนี้ มีแกนนำพรรคหลายคนเคยพูดมาแล้ว แต่ไม่ได้ขยายความว่า "เหตุแทรกซ้อน" คืออะไร

แม้พรรคไทยรักษาชาติจะไม่เคยบอกชัดๆ ว่า "เหตุแทรกซ้อน" แปลว่าอะไรกันแน่ แต่หลายคนก็เดาว่าหมายถึงความวุ่นวาย หรือการสร้างสถานการณ์ปั่นป่วนที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ล่าสุด รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ขยับแล้ว มีการประชุมเตรียมวางกำลังตำรวจเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยที่ศาลรัฐธรรมนูญ วางกำลังเท่าไหร่รู้ไหม ให้ทาย... วางไว้ถึง 800 กองร้อย จำนวน 1,200 นาย (กองร้อยละ 150 นาย)

ที่น่าสนใจก็คือ มีการวางกำลังโดยรอบศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดคัดกรอง โดยเฉพาะพื้นที่รัศมี 500 เมตรจากที่ทำการศาลจะต้องปลอดภัยที่สุด เพราะอยู่ในระยะที่ผู้ไม่หวังดีสามารถใช้เครื่องยิงลูกระเบิด M79 ยิงถึงได้ จึงต้องสกรีนให้ปลอดภัย 100% ส่วนบริเวณด้านนอก "กองตำรวจสื่อสาร" ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวน 70 ตัว สามารถมองเห็นทุกจุด รวมถึงติดตั้งระบบวิทยุสื่อสาร วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อเฝ้าติดตามและรายงานสถานการณ์ได้ทันทีด้วย

รองฯศรีวราห์ บอกด้วยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายใดทำหนังสือขออนุญาตชุมนุมหรือให้กำลังใจพรรคไทยรักษาชาติบริเวณศาลและพื้นที่ใกล้เคียง (พูดแบบนี้แปลว่าไม่ให้ชุมนุม เพราะถ้าจะชุมนุมต้องขออนุญาตก่อน 1 วันตามกฎหมาย) สำหรับประชาชนหากจะเดินทางไปศาล จะต้องไม่ทำผิดกฎหมาย ส่วนด้านการข่าวขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติ โดยรองฯศรีวราห์ บอกว่า จะเดินทางไปดูแลความเรียบร้อยด้วยตนเอง
ประเมินสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อความวุ่นวายไปแล้ว มาประเมินทิศทางการเมืองบ้าง "ล่าความจริง" ได้ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งที่มีสำนักงานเกี่ยวกับ "การวิจัย" เป็นการเฉพาะ เคยมีผลงานเรื่องการทำสำรวจ และศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเมืองจำนวนมาก

กลุ่มนักวิชาการที่มีข้อมูลด้านนี้ได้ประเมินสถานการณ์การเมืองช่วงก่อนวันพิพากษาพรรคไทยรักษาชาติเอาไว้เป็นข้อๆ แยกเป็น "ซีนาริโอ" หรือ "ฉากทัศน์" 5 รูปแบบที่อาจจะเกิดขึ้นได้

หนึ่ง แนวโน้มการไม่มีเลือกตั้งยังมีอยู่ โดยแนวโน้มนี้จะมีความชัดเจนขึ้นหลังวันตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยเฉพาะหากศาลพิพากษาว่ายุบ ต้องดูว่ามีความวุ่นวายเกิดขึ้นจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญขึ้นหรือไม่

สอง ต่อเนื่องจากข้อหนึ่ง คือถ้ายุบพรรคไทยรักษาชาติแล้วมีความวุ่นวายจนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมอาจไม่เกิดขึ้น ก็ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และมีการหารือกันของฝ่ายต่างๆ เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งคาดได้ว่าจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

3.ไม่ว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ปรากฏว่าไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น การเมืองเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่เลือกแล้ว ประกาศผลแล้ว กลับตั้งรัฐบาลได้ยาก เพราะฝ่ายที่ไม่เอาทหาร คือฝ่ายพรรคเพื่อไทยและเครือข่าย จะต่อต้านมาก เนื่องจากมีโอกาสสูงที่พรรคเพื่อไทยและเครือข่ายจะได้เสียง ส.ส.มากที่สุด

หากพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนอันดับ 2 ที่ไม่ทิ้งห่างพรรคเพื่อไทยมาก จนสามารถรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้ ถ้าเป็นแบบนี้ พรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่ายบางพรรคจะกลายเป็นฝ่ายค้าน แต่ปัญหาคือตอนนี้พลังประชารัฐมีกระแสดีขึ้น แต่ยังคาดการณ์ยากว่าจะได้ ส.ส.กี่คน เพราะจากการสำรวจความเห็นของประชาชน แม้จะอยากได้ "นายกฯลุงตู่" เป็นนายกฯต่อ แต่ยังรู้จักพรรคพลังประชารัฐค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ประชาชนในต่างจังหวัดจะเลือกพรรคที่ตนเองคุ้นเคย ในบัตรเลือกตั้งก็มีแต่ชือ่พรรค ไม่มีชื่อผู้สมัคร

4.พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 แล้วเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่แนวทางนี้มีโอกาสเกิดยาก

และ 5.พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 3 ทำให้พรรคอันดับ 1, 2 และพรรคขนาดกลาง จับมือกันตั้งรัฐบาลจากพรรคการเมือง ไม่เอา "บิ๊กตู่" แต่แนวทางนี้มีความเสี่ยง เพราะต้องรอดูท่าทีของกองทัพ

ผลสำรวจของสำนักวิจัยแห่งนี้ยังพบข้อมูลที่น่ากังวลว่า ประชาชนเฉลี่ยทุกภาคถึงร้อยละ 72.5 ยังไม่แน่ใจว่าบัตรเลือกตั้งมีกี่ใบกันแน่ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังสับสนกับรูปแบบการเลือกตั้ง และอาจทำให้ผลการเลือกตั้งไม่สะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน

logoline