svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(คลิปข่าว) ลุยตลาดนัดกลางคืน กวาดล้าง "บุหรี่ไฟฟ้า"

04 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ล่าความจริง" วันนี้ เปิดรายการกันด้วยประเด็นที่เราเพิ่งเปิดเป็นสื่อแรกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือ ปฏิบัติการกวาดล้าง "บุหรี่ไฟฟ้า" ของ "บิ๊กโจ๊ก" พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล หลังกลุ่มหมอและบุคลากรด้านสาธารณสุขในนาม "สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่" เข้าร้องเรียนว่าบุหรี่ไฟฟ้าขายกันอย่างโจ๋งครึ่ม ทั้งๆ ที่ผิดกฎหมาย



เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว กรรมการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ได้เข้าพบ "บิ๊กโจ๊ก" พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เร่งบังคับใช้กฎหมายกับขบวนการขายบุหรี่ไฟฟ้าและบารากู่อย่างเด็ดขาด หลังพบว่ามีการโฆษณาและจำหน่ายอย่างแพร่หลายะในโซเชียลมีเดีย ทั้งๆ ที่ "บุหรี่ไฟฟ้า" ผิดกฎหมายหลายฉบับ นำเข้ามาจำหน่ายไม่ได้ และการโฆษณาออนไลน์ก็น่าจะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย
ปรากฏว่าหลังเข้าร้องเรียน "บิ๊กโจ๊ก" ได้สั่งการให้กวาดล้างจับกุมแหล่งขายบุหรี่ไฟฟ้าย่านตลาดคลองถมทันที โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 11 ราย จำนวน 7 ร้านค้า ถือเป็นการประเดิมพื้นที่แรก

ล่าสุดเมื่อวาน ที่ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา "บิ๊กโจ๊ก" นำทีมแถลงผลการนำกำลังเข้าตรวจค้นร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนอุปกรณ์ประกอบการสูบ จำนวน 22 จุด ในแหล่งท่องเที่ยวใจกลางกรุงเทพมหานคร ได้ผู้ต้องหาพร้อมของกลางมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท

"บิ๊กโจ๊ก" บอกว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีจำหน่ายอย่างแพร่หลายทางสื่อออนไลน์ และตลาดนัดกลางคืน เจ้าหน้าที่จึงลงตรวจสอบตามตลาดนัดชื่อดังในยามค่ำคืน คือตลาดคลองถม ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา ตลาดนัดตะวันนา ตลาดห้วยขวาง ตลาดซอยนานา ตลาดนัดอินดี้ และตลาดนกฮูก โดยสามารถจับกุมร้านที่กระทำความผิดได้จำนวน 30 ร้าน ผู้ต้องหา 23 คนพร้อมของกลาง 4,025 รายการ จึงขอให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนทั่วไปว่า การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าก็มีอันตรายต่อร่างกาย

ที่น่าสนใจก็คือ ตำรวจตั้งข้อหาอ่วมเลย มากถึง 8 ข้อหา สำหรับคนที่จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์สำหรับสูบบุหรี่ที่ผิดกฎหทายเหมือนกัน คือ

1.ขายหรือให้บริการสินค้า "บารากู่ - บารากู่ไฟฟ้า - บุหรี่ไฟฟ้า"และตัวยา ผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค

2.ขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก ผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค

3.ขายหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยฝ่าฝืนคำสั่งของห้ามขายหรือนำเข้า ผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

4.นำเข้าซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร

5.ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ซื้อรับจำนำ และอื่นๆ สำหรับสิ่งของที่ควรรู้ว่าเกี่ยวข้องกับความผิด ผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร

6.นำเข้าซึ่งสินค้าต้องห้าม ผิดตาม พ.ร.บ.การส่งออกนำเข้าฯ

7.มีไว้ในครอบครองและขาย หรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าที่มิได้เสียภาษี หรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน ผิดตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต

และ 8.เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ข้อหานี้สำหรับคนขายที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งมีหลายคนเหมือนกัน

สำหรับ "บุหรี่ไฟฟ้า" กำลังสร้างปัญหาให้กับแคมเปญรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ เพราะเป็นตัวเสริมให้มีการเพิ่มนักสูบหน้าใหม่ โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้สำรวจพฤติกรรมการบริโภคบุหรี่กับเยาวชนไทย อายุระหว่าง 13-15 ปี จากการสุ่มตัวอย่าง 30 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน มีจำนวนนักเรียนร่วมตอบแบบสอบถามกว่า 2 พันคน พบว่า เยาวชนสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 11.3 และมีเยาวชนร้อยละ 3.3 เข้าถึงการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และยังเคยทดลองสูบบารากู่มาก่อนด้วย

นอกจากนั้น องค์การอนามัยโลก ยังได้มีประกาศเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ว่าไม่ใช่อุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับช่วยในการเลิกบุหรี่ จากการทบทวนการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบในวัยรุ่นต่างประเทศ ช่วงอายุระหว่าง 14-30 ปี จำนวน 17,389 คน พบว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อการเป็นผู้สูบบุหรี่ทั่วไปในอนาคตสูงถึง 3.6 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า

logoline