svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(คลิปข่าว) หัวหน้า คสช.ไม่ใช่ จนท.รัฐ?

04 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คำถามที่ คุณสนธิรัตน์ ดูจะยังตอบไม่ชัด และพยายามข้ามไปเรื่องอื่น ก็คือปัญหาเกี่ยวกับสถานะของ "บิ๊กตู่" ว่ายังเป็น "เจ้าหน้าที่รัฐ"อยู่หรือเปล่า เพราะยังสวมหมวกอีกใบเป็น "หัวหน้า คสช." หรือ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตั้งแต่กลางปี 57 หรือเกือบๆ 5 ปีมาแล้ว

ต้องไม่ลืมว่าขณะนี้ยังมีคำร้องของ คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ ที่ยื่น กกต.เอาไว้ว่า "บิ๊กตู่" มีลักษณะต้องห้ามสำหรับการเป็น "ว่าที่นายกรัฐมนตรีในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ" หรือไม่ เพราะยังดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.อยู่ ซึ่งคุณเรืองไกรมองว่ามีสถานะเป็น "เจ้าหน้าที่รัฐ"

ย้อนดูรัฐธรรมนูญมาตรา 89 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอชื่อ "แคนดิเดตนายกฯ" ของพรรคการเมืองเอาไว้ข้อหนึ่งว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160

เมื่อตามไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 160 จะพบว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "คุณสมบัติ" ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีอยู่ 8 ข้อ ปัญหาอยู่ที่ข้อ 6 คือต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98

พอตามไปดูมาตรา 98 ก็พบว่า คือ "ลักษณะต้องห้ามของการใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส." ในวงเล็บ 15 ระบุว่า ห้ามเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ปัญหาอยู่ตรงนี้ เพราะมีการตีความว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. คือ "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" หรือไม่ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจต่างๆ ตามกฎหมาย และยังได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็น "เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่ม" ตามพระราชกำหนดเงินเดือนประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ. 2557" ด้วย โดยหัวหน้า คสช.ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาทต่อเดือน และเงินเพิ่ม 50,000 บาทต่อเดือน รวมแล้วเดือนละ 125,590 บาท

หลายคนตั้งคำถามว่า เมื่อหัวหน้า คสช.สามารถใช้อำนาจได้ตามกฎหมาย และมีค่าตอบแทนเป็นรายเดือนตามที่กฎหมายกำหนด แล้วจะไม่เป็น "เจ้าหน้าที่รัฐ" ได้อย่างไร

เรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย อาจารย์วิษณุ เครืองาม บอกเอาไว้ว่า "คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเป็นแค่องค์กรชั่วคราวที่ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ"

สอดคล้องกับที่ "บิ๊ก ป.ป.ช." หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เคยบอกเอาไว้ตั้งแต่หลังรัฐประหารใหม่ๆ ว่า คสช.ไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย ป.ป.ช. เนื่องจากเป็นองค์กรชั่วคราวที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

แต่คำถามก็คือการตีความเช่นนี้ถูกต้องและมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ เพราะมีคนไปค้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2543 ซึ่งเคยตีความคำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" มาแล้ว สรุปว่าต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย

2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ หรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติงานประจำ

3.อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐ

4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย

พิจารณาจากลักษณะ "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยตีความ คีย์เวิร์ดสำคัญที่ยังเห็นแตกต่างมีอยู่อย่างเดียวคือคำว่า "ปฏิบัติงานประจำ" เพราะรองนายกฯวิษณุ และป.ป.ช. บอกว่า "ไม่ประจำ" เป็นแค่ "องค์กรชั่วคราว" แต่ฝ่ายที่ยื่นให้ตีความอาจจะมองว่า คสช.อยู่มาเกือบ 5 ปีแล้วยังไม่ประจำอีกหรือ ขณะที่ลักษณะข้ออื่นๆ ดูจะปฏิเสธไม่ได้

แน่นอนว่าผู้มีอำนาจวินิจฉัยสุดท้ายย่อมอยู่ที่ กกต. เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่จนถึงวันนี้ กกต.ก็ยังไม่ได้วินิจฉัยออกมา ทั้งๆ ที่ คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อชาติบอกว่า เป็นประเด็นสำคัญเสียยิ่งกว่าขึ้นดีเบต ขึ้นปราศรัยได้หรือไม่เสียอีก

และนี่เองที่ทำให้คุณจตุพรมองว่า นี่อาจเป็นการเพาะเชื้อให้มีช่องทางประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ในอนาคต หากผลการเลือกตั้งออกมาไม่ตรงใจผู้มีอำนาจ

สุดท้ายเรื่องแบบที่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่...ต้องรอดู

logoline