svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(คลิปข่าว) เปิด 5 เหตุผล กห. ต้องมีทหารเกณฑ์ต่อไป

27 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกหนึ่งประเด็นตกค้าง คือ เรื่องความจำเป็นของการเกณฑ์ทหารและการมีทหารเกณฑ์ ประเด็นนี้จะว่าไปเริ่มเป็นกระแสมาก่อนที่จะมีข้อเสนอจากพรรคการเมืองบางพรรคให้ตัดงบกลาโหมเสียอีก เพราะมีปัญหาเรื่องทำร้ายร่างกาย เรื่องลงโทษหนักเกินกว่าเหตุ และการส่งทหารเกณฑ์ไปเป็นทหารรับใช้ตามบ้านนาย เลี้ยงไก่บ้าง ซักผ้า ซักกางเกงในเมียนายบ้าง ซึ่งเป็นความจริงในสังคมไทยมานาน มีการทำหนังและละครเกี่ยวกับชีวิตทหารเกณฑ์ให้ได้ชมกันอยู่บ่อยๆ

เหตุนี้เองทำให้มีกระแสยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และพรรคการเมืองบางพรรคหยิบมาเป็นนโยบาย ไม่เว้นแม้แต่ "นิวเดม" หรือทีมคนรุ่นใหม่ของประชาธิปัตย์ โดยข้อเสนอหลักๆ ก็คือใช้ระบบ "อาสาสมัคร"แทน

จริงๆ แล้วประเด็นนี้ไม่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งหรือเสียงวิจารณ์อะไรมากมายเลย ถ้าไม่ถูกนำไปโยงกับข้อเสนอให้ตัดงบกลาโหม จนถูก ผบ.ทบ. พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ไล่ให้คนที่เสนอเรื่องเหล่านี้ไปฟังเพลง "หนักแผ่นดิน"

กระแสวิจารณ์และเปิดเผยข้อมูลทั้งเรื่องงบกลาโหม และการเกณฑ์ทหาร เป็นไปอย่างกว้างขวาง จนทำให้กระทรวงกลาโหมต้องตั้งโต๊ะชี้แจงข้อเท็จจริง โดยสัปดาห์ที่แล้วอธิบายเรื่องงบกลาโหม อ้างว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นผิดปกติตามที่มีกระแสวิจารณ์ และล่าสุดวันนี้ โฆษกกลาโหมคนเดิม พลโทคงชีพ ตันตระวาณิชย์ ได้ตั้งโต๊ะแถลงอีกรอบ เรื่องความจำเป็นของการเกณฑ์ทหารและการมีทหารเกณฑ์

"ล่าความจริง" สรุปสาระสำคัญมาให้ฟังกันง่ายๆ แบบนี้

1.โฆษกกลาโหมย้ำว่า รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ และ พ.ร.บ.การรับราชการ พ.ศ.2497 กำหนดให้ "การเป็นทหารเป็นหน้าที่ของชายไทย"

2.การสมัครใจเป็นทหารมีอยู่แล้ว แต่ยังไม่พอกับความต้องการ โดยแต่ละปีมีคนสมัครใจมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีถึงร้อยละ 45 จากความต้องการทั้งหมดราวๆ 1 แสนนาย เมื่อมียอดสมัครสูงขึ้น ก็เกณฑ์จริงในหลักหมื่น

3.ประเทศแถบยุโรปและมหาอำนาจอีก 39 ประเทศ ยังคงมีการเกณฑ์ทหาร มีเพียง 13 ประเทศที่ยกเลิกไปแล้ว และอีก 29 ประเทศไม่มีการเกณฑ์ทหาร / สำหรับประเทศสิงคโปร์ ผู้ชายทุกคนต้องเป็นทหาร ส่วนเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ที่เคยเลิกไป กำลังทบทวนกลับมาเกณฑ์ทหารอีกครั้ง

4.สำหรับประเทศไทย นอกจากการเกณฑ์ทหารและสมัครใจแล้ว ยังมีระบบ "นักศึกษาวิชาทหาร" ที่หากเรียนครบตามหลักสูตรก็ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ขณะเดียวกัน ทหารเกณฑ์ที่เข้าประจำการ จะได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตและให้ศึกษาเพิ่มเติม มีการฝึกวิชาชีพ และมีงานทำเมื่อพ้นจากการเกณฑ์ทหารแล้ว

5.สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หรือการปรับลดจำนวนทหารเกณฑ์ลงนั้น พลโท คงชีพ บอกว่า กองทัพรับฟังทุกความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ แต่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจร่วมกันอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะหากจะลดกรอบอัตราการเกณฑ์ทหาร เพื่อไม่ให้อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงที่จะกระทบต่อความมั่นคงหรือกระทบต่อการดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติ และหากกองทัพมีการปรับลดกำลังพล ก็จำเป็นต้องมีเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ โดยเปรียบเทียบกองทัพกับภาคอุตสาหกรรม หากมีการปรับลดกำลังคนแล้ว ก็จะต้องมีการเพิ่มเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน
โฆษกกลาโหม ยังชี้แจงประเด็น "ทหารรับใช้บ้านนาย ว่า ปัจจุบันถือว่ามีน้อยมาก หรือเกือบจะไม่มี เพราะต้องคำนึงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของทหาร เช่นเดียวกับประเด็นการซ้อมพลทหาร ที่ปัจจุบันมีนโยบายชัดเจน หากมีรุ่นพี่หรือครูฝึกบางคนกระทำเรื่องนี้ จะถูกลงโทษถึงขั้นต้องออกจากราชการ และผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นก็จะต้องรับผิดชอบถึงขั้นย้ายออกจากหน่วย ดังนั้นเชื่อว่าปัญหาวันนี้ปัญหาน้อยลงมาก

นี่คือประเด็นหลักๆ ที่ชี้แจง สรุปคือจะลดจำนวนทหารเกณฑ์ก็ได้ แต่ต้องรอบคอบ พิจารณาทุกมิติ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ แต่ถ้านโยบายรัฐบาลชุดต่อๆ ไป ต้องการลดจำนวนกำลังพลลงจริงๆ ก็ต้องหาเทคโนโลยีมาทดแทน ส่วนการซ้อม การลงโทษรุนแรง หรือการส่งทหารไปรับใช้ตามบ้านนาย ปัจจุบันไม่มีแล้ว นี่คือคำชี้แจงจากโฆษกกลาโหม

แต่ในช่วงหน้า "ปักธงเลือกตั้ง" เรามีขุนพลพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นอดีตทหาร และอดีตเลขาธิการ สมช. เคยคุมงานความมั่นคงของประเทศ มาเสนอแนวคิดการจัดระบบ "ทหารอาสาสมัคร" และการปรับลดงบกองทัพ ด้วยการลดความรับผิดชอบ "ภารกิจรอง" ที่มากมายในปัจจุบันนี้ลง เดี๋ยวไปติดตามกัน

logoline