svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(คลิปข่าว) บุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนัก จ่อร้อง "บิ๊กโจ๊ก" ช่วยปราบ

25 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกหนึ่งปัญหาที่เกี่ยวกับการไม่บังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกัน ก็คือการแพร่ระบาดของ "บุหรี่ไฟฟ้า" มีการโฆษณาขายและจัดจำหน่ายแบบโจ๋งครึ่มในโซเชียลมีเดีย ทำให้กลุ่มหมอและบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและนักสูบหน้าใหม่ ยอมรับไม่ไหว เตรียมรวมตัวเข้าพบ "บิ๊กโจ๊ก" พลตำรวจโทสุรเชษฐ์ หักพาล ในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้เร่งบังคับใช้กฎหมายกับ "บุหรี่ไฟฟ้า"


นี่คือตัวอย่างเพจเฟซบุ๊คที่เปิดเพื่อประชาสัมพันธ์และประกาศขาย "บุหรี่ไฟฟ้า" กันอย่างโจ๋งครึ่ม และมีเป็นจำนวนมาก โดยเป็นเพจที่ขายครบวงจร ทั้งตัวบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา และอุปกรณ์เสริมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบารากู่ พร้อมเตา ทั้งๆ ที่การโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าขัดต่อข้อกฏหมายหลายฉบับ ได้แก่ ประกาศกระทรวงพานิชย์ที่ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ผิดพระราชบัญญัติยาสูบ และยังเป็นการนำข้อมูลสินค้าผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งน่าจะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย

ล่าสุดกลุ่มแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำงานรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ ในนามของ "สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่" ซึ่งเป็นองค์กรที่มีสมาชิกจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศรวมถึง 867 องค์กร มองเห็นปัญหานี้ว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เนื่องจากทำให้การรณรงค์สูญเปล่า นักสูบหน้าใหม่และหน้าเก่าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างง่ายได้ กลายเป็นพื้นที่ที่เปิดขายกันอย่างเสรี จึงเตรียมรวมตัวเข้าพบ "บิ๊กโจ๊ก" พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้เร่งบังคับใช้กฎหมายกับขบวนการขายบุหรี่ไฟฟ้าและบารากู่อย่างเด็ดขาดต่อไป

สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ยังให้ข้อมูลด้วยว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้สำรวจพฤติกรรมการบริโภคบุหรี่กับเยาวชนไทย อายุระหว่าง 13-15 ปี จากการสุ่มตัวอย่าง 30 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน มีจำนวนนักเรียนร่วมตอบแบบสอบถามกว่า 2 พันคน พบว่า เยาวชนสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 11.3 และมีเยาวชนร้อยละ 3.3 เข้าถึงการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และงยังเคยทดลองสูบบารากู่มาก่อนหน้าด้วย

นอกจากนั้น องค์การอนามัยโลก ยังได้มีประกาศเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ว่าไม่ใช่อุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับช่วยในการเลิกบุหรี่ จากการทบทวนการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบในวัยรุ่นต่างประเทศ ช่วงอายุระหว่าง 14-30 ปี จำนวน 17,389 คน พบว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อการเป็นผู้สูบบุหรี่ทั่วไปในอนาคตสูงถึง 3.6 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า

สำหรับส่วนประกอบของบุหรี่ไฟฟ้า มี 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนของแบตเตอรี่ และส่วนน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีอันตรายถึง 95% เนื่องจากน้ำยาบุหรี่ในท้องตลาดส่วนใหญ่สกัดจากใบยาสูบ ฉะนั้นแม้จะสูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่ร่างกายยังได้รับนิโคตินอยู่เหมือนเดิม


ตัวอย่างการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า มีการแฉในโลกออนไลน์โดย "กลุ่มชุมชนคนแม่สาย" ระบุว่ามีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กและเยาวชน อายุ 8-10 ปี เพราะได้ข้อมูลจากโซเชียลฯว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปากหอม และมองเป็นของเล่น

หลงมีข่าว ทำให้นายด่านศุลากรแม่สาย นายวิโรจน์ ใยบัวเทศ ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่ตลาดดอยเวา และสายลมจอย เพื่อหาร้านที่จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ แต่การตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าทาร้านที่ลักลอบขายรู้แกว เก็บไปเสียก่อน ทำให้ยึดของกลางไม่ได้

logoline