svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(คลิปข่าว) "ส.ว.รอโหวต" ตัวแปรการเมืองหลังเลือกตั้ง

25 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อย่างที่บอกไว้ในช่วงรีวิวเลือกตั้ง ว่าอีกเพียง 20 กว่าวันเท่านั้นก็จะถึงวันหย่อนบัตรกันแล้ว สิ่งที่ทุกฝ่ายเฝ้าจับตาก็คือผลการเลือกตั้ง และมองข้ามช็อตไปที่การรวมเสียงกันเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทว่าตัวแปรสำคัญที่สุดอาจไม่ใช่พรรคการเมืองพรรคไหน แต่อาจกลายเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.250 ชีวิตที่ตั้งโดย คสช.ก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง อาจทำให้กระบวนการลงมติ กลายเป็นการโหวตเลือกนายกฯคนเก่า ไม่ใช่นายกฯคนใหม่ ติดตามเรื่องนี้ได้จาก "เนชั่นอิเล็กชั่น สองพันสิบเก้า"



จริงๆ กระแสที่พรรคการเมืองออกมา "ตีปลาหน้าไซ" มีมาระยะหนึ่งแล้ว หลักๆ คือการเรียกร้องให้ ส.ว.250 คนที่อยู่ในกระบวนการเคาะชื่อแต่งตั้งโดย คสช.-ขณะนี้ โหวตเลือกนายกฯตามเจตจำนงของประชาชน คือพรรคไหนได้เสียง ส.ส.มากที่สุดจากการเลือกตั้ง หรือรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้มากที่สุด ก็ควรเป็นนายกฯและควรเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่ไปสนับสนุนคนจากพรรคที่แพ้เลือกตั้ง

ต่อมากระแสนี้เริ่มลุกลาม ถึงขนาดบางพรรคโจมตีว่าเป็นกลไกที่ไม่ชอบธรรม เสนอไม่ให้ ส.ว.มีส่วนร่วมโหวตนายกฯเลยด้วยซ้ำไป

แต่ก็มีผู้ทรงคุณวุฒิอย่างอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นายชูชาติ ศรีแสง ที่ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพื่อเตือนความจำว่า กระบวนการให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯด้วยนั้น เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติจากประชาชนด้วยคะแนนสูงถึง 61.35% เฉพาะประเด็นให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯในช่วง 5 ปีแรก อยู่ในส่วนของ "คำถามพ่วง" ที่ผ่านประชามติเช่นกัน ด้วยคะแนน 58.07% ทำให้อดีตผู้พิพากษาชูชาติ ตั้งคำถามกลับไปยังบรรดาแกนนำพรรคการเมืองที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ว่า ถ้าระบอบประชาธิปไตยหมายถึงการต้องยอมรับฟังเสียงของประชาชน นักการเมืองที่อ้างว่าเป็นนักประชาธิปไตย ก็ควรยอมรับผลการออกเสียงของประชาชนด้วย มิฉะนั้นจะกลายเป็นประชาธิปไตยตามความต้องการและความพอใจของคนบางกลุ่มเท่านั้น

logoline