svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(คลิปข่าว) คำถามคาใจ... งบก้อนใหญ่กลาโหม

20 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากวิวาทะถกเถียงเรื่อง "งบกลาโหม" ยังมีข้อสังเกตจากผู้ที่ศึกษาเรื่องการจัดงบประมาณของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ว่าการพูดถึงตัวเลขงบประมาณว่าใช้มากหรือน้อย โดยเทียบสัดส่วนกับงบประมาณรวมของทั้งประเทศ หรือจีดีพีนั้น บางกรณีก็อาจไม่ได้ตอบคำถามที่สังคมคาใจ

"ล่าความจริง" รวบรวมประเด็นที่เป็นข้อสังเกตจากผู้ที่ศึกษาเรื่องงบประมาณ หลังจากฟังคำชี้แจงของกระทรวงกลาโหม และข้อเสนอปรับลดงบกลาโหมจากพรรคการเมืองต่างๆ สรุปได้แบบนี้

1.การคิดเทียบสัดส่วนเปอร์เซนต์งบกลาโหมกับงบรวมของประเทศ แล้วอธิบายว่ากระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบในสัดส่วนที่เท่าเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ และตัวเลขที่เพิ่ม ก็เป็นการเพิ่มหรือเติบโตตามงบรวมของประเทศที่มากขึ้น คำอธิบายนี้ไม่ได้ตอบคำถามสังคมที่มองว่า ทิศทางงบประมาณรายปีของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลังการรัฐประหารแทบทุกครั้ง โดยไม่ลดลงเลย ซึ่งสังคมมองเฉพาะตัวเลข ไม่ได้มองที่สัดส่วน

ขณะที่ภาพจริงที่สังคมเห็น คือ กองทัพมีนโยบายลดจำนวนกำลังพลลง ลดจำนวนนายพล ในขณะที่มุมมองของคนทั่วไป มองว่าประเทศไม่ได้มีศึกสงครามอะไร ภูมิภาคนี้ไม่มีสงครามขนาดใหญ่ แต่ทำไมงบจึงเพิ่มขึ้น (แม้จะเพิ่มตามการเพิ่มของงบรวม แต่ถ้ารัฐบาลไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องการทหาร ตัวเลขงบก็น่าจะคงที่หรือลดลง แม้งบรวมของประเทศจะเพิ่้มขึ้น ก็น่าจะเอาไปใช้ด้านอื่นมากกว่าหรือไม่)

2.การนำงบด้านการทหารของประเทศไทย ไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แล้วบอกว่าไม่ได้มีอัตราการเพิ่มสูงสุดจนผิดปกติ จริงๆ แล้วสามารถเทียบได้หรือเปล่า เพราะแต่ละประเทศเผชิญภัยคุกคามต่างกัน อย่างหลายประเทศในอาเซียนอยู่ในวงจรปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ จึงซื้อเรือดำน้ำเพิ่มหลายลำในรอบหลายปี ส่วนไทยก็มีเสียงวิจารณ์ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาทะเลจีนใต้ แต่ทำไมต้องซื้อเรือดำน้ำด้วย (เรื่องนี้เป็นคำถามของประชาชนทั่วไป ซึ่งกองทัพก็เพิ่งชี้แจงวันนี้ว่า เรามีผลประโยชน์ทางทะเลจำนวนมหาศาลต้องดูแล)

3.การอธิบายว่า กองทัพต้องรับผิดชอบด้านภัยพิบัติ และการช่วยเหลือประชาชน จึงต้องมียุทโธปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับภารกิจนี้ แม้จะถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย กอ.รมน.ที่มีการแก้ไขใหม่ แต่คำถามคือการที่กองทัพแก้ไขกฎหมายในช่วงที่ตัวเองมีอำนาจ เพื่อขยายขอบเขตภารกิจของตนเอง (โดยเฉพาะการใช้ ม.44 แก้กฎหมายความมั่นคง ให้ กอ.รมน.มีอำนาจเรื่องบรรเทาภัยพิบัติด้วย) แล้วสุดท้ายก็นำมาสู่การเพิ่มงบประมาณ ในขณะที่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆ โดยตรงอยู่แล้ว (เช่น มหาดไทย ตามกฏหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ทั้งหมดนี้เป็นทิศทางที่ถูกต้องจริงหรือไม่

ประเด็นหลักๆ เหล่านี้ที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างหน่วยงานผู้ใช้งบประมาณอย่างกลาโหม กับมุมมองของคนทั่วไปในสังคม ซึ่งสุดท้ายก็คงต้องถกแถลงชี้แจงเหตุผลกันต่อไป

logoline