svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดขั้นตอนกฎหมาย "ส่งผู้ร้ายข้ามแดน"

06 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศ และอัยการสำนักงานต่างประเทศ มีประเด็นสำคัญที่ยืนยันตรงกันก็คือว่า คดีการขอส่งตัว นายฮาคีม เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการเมือง เชื้อชาติ และศาสนา ที่ต้องห้ามไม่ให้ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ฉะนั้นคดีนี้จึงต้องรอคำพิพากษาของศาล เพราะเข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว


"ล่าความจริง" ตรวจสอบข้อมูลพบว่า กรณีของนายฮาคีมน่าจะล่วงเลยขั้นตอนเบื้องต้นที่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารจะตัดสินส่งหรือไม่ส่งตัวนายฮาคีมตามการร้องขอของรัฐบาลบาห์เรนไปแล้ว เพราะนายฮาคีมถูกจับกุมในไทยตามหมายจับของอินเตอร์โพล จากนั้นจึงเป็นไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พุทธศักราช 2551 คืออัยการยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งขัง เพื่อรอการยื่นฟ้อง ซึ่งขณะนี้ก็ได้ฟ้องคดีต่อศาลแล้ว หลังจากอัยการพิจารณาเห็นว่าคดีที่รัฐบาลบาห์เรนขอให้ส่งตัวนายฮาคีมเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นที่เป็นคดีเกี่ยวกับการเมือง เชื้อชาติ หรือศาสนา แต่ข้อหาที่รัฐบาลบาห์เรนส่งให้รัฐบาลไทย เป็นข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ซึ่งมีความผิดฐานนี้ตามกฎหมายไทย และมีโทษจำคุกเกิน 1 ปี จึงเข้าเงื่อนไขการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

หลังอัยการนำตัวไปฟ้องต่อศาล นายฮาคีมได้ปฏิเสธการถูกส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน และขอต่อสู้คดี โดยทนายจะยื่นหลักฐานคัดค้าน ด้วยการยืนยันว่าคดีนี้เป็น "คดีการเมือง" พร้อมหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และศาลนัดตรวจหลักฐานวันที่ 22 เมษายนนี้ จากนั้นคดีจึงจะเดินหน้าต่อไป และศาลจะชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งฝ่ายรัฐบาลบาห์เรนและฝ่ายนายฮาคีม

สุดท้ายถ้าศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าควรส่งนายฮาคีมเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ก็ให้ออกคำสั่งขัง เพื่อรอส่งข้ามแดนต่อไป แต่ห้ามส่งก่อนครบเวลา 30 วัน นับจากศาลมีคำสั่งขังเพื่อส่งข้ามแดน

แต่หากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ศาลจะสั่งปล่อยหลัง 72 ชั่วโมงนับตั้งแต่ศาลอ่านคำสั่งปล่อยตัว แต่ถ้าอัยการแจ้งความจำนงค์ภายใน 72 ชั่วโมงนั้นว่าจะอุทธรณ์ ก็ต้องขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ โดยอัยการต้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน จากนั้นคดีก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด

สาเหตุที่หลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลไทยยังมีอำนาจตัดสินใจว่าจะส่งหรือไม่ส่งนายฮาคีมเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ก็เพราะพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ ให้น้ำหนักการตัดสินใจของฝ่ายบริหารเอาไว้หลายขั้นตอน เช่นในมาตรา 20 ประกอบ มาตรา 22 ใช้คำว่า "ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ขังบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน และรัฐบาลไทยพิจารณาให้ส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว จากนั้นการส่งมอบตัวบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนให้แก่ประเทศผู้ร้องขอจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน ซึ่งหากดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ก็ต้องปล่อยตัว"

คุณผู้ชมลองนึกภาพตาม กระบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหลังศาลมีคำสั่ง เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ก็คือ ตำรวจ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนนี้ถือว่าพ้นอำนาจของฝ่ายตุลาการไปแล้ว ฉะนั้นหากไม่มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนตามเวลา ก็แปลว่าฝ่ายบริหารไม่ต้องการให้ส่งตัว เพียงแต่เมื่อคดีอยู่ในกระบวนการศาล ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ฝ่ายบริหารย่อมไม่สามารถแทรกแซงฝ่ายตุลาการได้

ฉะนั้นเมื่อพิจารณาจากกระบวนการขั้นตอนเหล่านี้ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลทุกประการ ก็ยังสรุปได้ว่าโอกาสของนายฮาคีมยังมีอีกหลายขั้นตอน แม้คดีจะเข้าสู่กระบวนการศาลไปแล้วก็ตาม

logoline