svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

แฉ รธน.เขียนชัด 150 วันรวมประกาศผลเลือกตั้ง

24 มกราคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งของ กกต.เมื่อวานนี้ โดยเลือกวันที่ 24 มีนาคมเป็นวันหย่อนบัตรนั้น ทำให้มองเห็นไทม์ไลน์ของการเมืองไทย และการมีนายกรัฐมนตรีกับรัฐบาลชุดใหม่ในราวเดือนมิถุนายน


นอกจากการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคมแล้ว เมื่อวาน กกต.ยังกำหนดตารางเวลาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอีกหลายช่วง เรามาดูกันให้ชัดๆ อีกครั้ง

เริ่มจากวันที่ 28 มกราคมถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เป็นช่วงเปิดให้ประชาชนแสดงความจำนงลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และนอกเขตพื้นที่ ขณะที่วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงของการเปิดรับสมัคร ส.ส.ในระบบแบ่งเขต พร้อมให้พรรคการเมืองยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส.ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ รวมถึงรายชื่อผู้ที่ทางพรรคเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดย กกต.กำหนดให้พรรคการเมืองยื่นรายชื่อได้ที่สำนักงาน กกต.

สำหรับการสมัครรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต จะแยกกันรับสมัครแบบ "เขตใครเขตมัน" และจับสลากเลือกเบอร์รายเขต ส่วนการยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ในการเลือกตั้งหนนี้จะไม่มีการจับสลากหมายเลขพรรค เพราะไม่มีบัตรเลือกตั้งสำหรับเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

จากนั้นวันที่ 4-16 มีนาคม จะเปิดให้เลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร และวันที่ 17 มีนาคมเป็นการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด

ประเด็นที่ยังไม่มีความชัดเจน เพราะ กกต.ยังไม่ฟันธงก็คือ วันประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ว่าจะต้องประกาศภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันครบกำหนดเวลา 150 วันที่ต้อง "จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ" ภายหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังมีความเห็นแตกต่างกันในหมู่นักกฎหมายว่า กรอบเวลา 150 วัน หมายถึงจัดการเลือกตั้งและประกาศผลให้แล้วเสร็จ หรือแค่จัดให้มีการหย่อนบัตรเท่านั้น

โดยทางฝั่งอาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหลายคน ออกมายืนยันว่า กรอบเวลา 150 วัน หมายถึงแค่จัดหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนการประกาศรับรองผล ยังมีเวลาต่างหากอีก 60 วัน ซึ่งเมื่อเคาะวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคมแล้ว กรอบเวลา 60 วันสำหรับประกาศรับรองผล จะล่วงเลยวันที่ 9 พฤษภาคม ไปเป็นวันที่ 24 พฤษภาคม

เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ กกต.ก็ไม่อยากเสี่ยง จึงยังไม่ประกาศในส่วนนี้


เฉพาะประเด็น 150 วันต้องทำอะไรกันแน่ "ล่าความจริง" มีข้อมูลใหม่มานำเสนอ โดยในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 บัญญัติว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้


แต่ "ล่าความจริง" ตรวจสอบพบว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 269 / ได้กำหนดขั้นตอนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดแรก 250 คน ซึ่งเป็นชุด "ลากตั้ง" ที่ คสช.เคาะเลือกเองเกือบทั้งหมด โดยในมาตรา 269 ข้อ ค.ควาย ระบุไว้ชัดว่า ให้ คสช.ดำเนินการเคาะชื่อ ส.ว.250 ชือ ให้เสร็จภายใน 3 วัน นับจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ตามมาตรา 268

คุณผู้ชมเห็นความเชื่อมโยงหรือยัง เมื่อมาตรา 268 บอกว่า ต้องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน มาตรา 269 บอกว่า หลังจากนั้น 3 วันต้องเคาะชื่อ ส.ว. นั่นย่อมแปลว่า กรอบเวลา 150 วัน หมายถึงการที่ กกต.ต้องประกาศรับรองผลด้วยใช่หรือไม่

นี่คือหลักฐานทางกฎหมายที่เรานำมาฝากกัน เพื่อให้สังคมช่วยกันคิดต่อไปว่าสรุปแล้วกรอบเวลา 150 วัน มีความหมายอย่างไรกันแน่ และ กกต.ควรประกาศรับรองผลเลือกตั้งภายในวันที่ 9 พฤษภาคมหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ประกาศ อาจผิดรัฐธรรมนูญ และกระทบกับกรอบเวลาการเคาะชื่อ ส.ว.250 คน

logoline