svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แฉ 4 กลโกง "ทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง"

15 กุมภาพันธ์ 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มีความคืบหน้าประเด็นที่ "ล่าความจริง" เกาะติดมาหลายวัน คือกรณีทุจริต "เงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งและผู้มีรายได้น้อย" ซึ่งก่อนหน้านี้ ป.ป.ท. หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ได้ชี้มูลความผิดข้าราชการระดับ ผอ.ศูนย์คนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น กับพวกอีกหลายคน หลังพบพฤติการณ์โกงเงินสงเคราะห์เกือบ 7 ล้านบาท ล่าสุดปัญหานี้ลุกลามไปที่จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ลงพื้นที่สอบปากคำชาวบ้านหลายร้อยคนที่ถูกนำชื่อไปเบิกรับเงินสงเคราะห์โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง หรือบางคนรู้ แต่ก็ไม่ได้เงิน เพราะถูกเจ้าหน้าที่งาบเข้ากระเป๋าตัวเอง

นี่คือกลุ่มชาวบ้านในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เข้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ว่าถูกนำเอกสารข้อมูลส่วนตัว เช่น สำเนาบัตรประชาชน ไปทำเรื่องขอรับเงินโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน หรือเรียกง่ายๆ ว่า "เงินช่วยเหลือผู้ยากไร้" ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่กลับไม่ได้รับเงินจริง หรือบางรายก็ได้ไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะได้รับ
คุณสายสุนีย์ ก้อนใจ ประธานกลุ่มแม่บ้านสันทราย อำเภอสันป่าตอง เล่าว่า ก่อนหน้านี้มีหน่วยงานรัฐเข้ามามอบเงินช่วยเหลือให้กับกลุ่มแม่บ้าน จำนวน 5,000 บาท โดยมีการให้เซ็นชื่อประกอบเอกสารของแม่บ้าน 25 คน โดยไม่ทราบว่าถูกนำรายชื่อไปใช้ประโยชน์ ตนเองมีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้ขอรับสิทธิ์ด้วย ทั้งที่ไม่เคยยื่นเรื่องเลย และตนก็ไม่ใช่ผู้ยากไร้ผู้เสียหายอีกคนคือ คุณเสาวนีย์ อุ่นเรือน เล่าว่า ก่อนหน้านี้ได้รับการประสานให้รวบรวมรายชื่อผู้มีรายได้น้อยและไร้ที่พึ่งพิง ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ โดยตนได้รวบรวมรายชื่อทั้งสิ้น 15 คน ส่งผ่านไปยังผู้ใหญ่บ้าน และได้รับเงินทั้ง 15 คน โดยมีเจ้าหน้าที่นำเงินมามอบให้คนละ 3,000 บาท ชื่อที่ทำส่งไปมีแค่นี้ ตอนหลังเพิ่งทราบว่ารายชื่อผู้ขอรับสิทธิ์จริงๆ ที่มีการไปทำเรื่องเบิกงบประมาณ มีมากถึง 51 ราย
พันตำรวจโท วันนพ จินตนกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท. อธิบายว่า พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด มี 4 รูปแบบ คือ 1.ถูกปลอมแปลงเอกสารทั้งหมด คือปลอมแปลงทั้งสำเนาบัตรประชาชน และเอกสารหลักฐานอื่นๆ โดยชาวบ้านไม่ทราบเรื่องเลย จากนั้นก็นำเอกสารไปยื่นเบิกงบ 2.ให้ชาวบ้านยื่นเอกสารจริง แต่ไม่ได้รับเงิน 3.ให้ชาวบ้านยื่นเอกสารจริง และได้รับเงิน แต่ได้ไม่ครบจำนวน และ4.ให้ชาวบ้านที่ไม่มีคุณสมบัติยื่นเอกสาร
การตรวจสอบโครงการเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ เรื่องมาแดงขึ้นหลังจากมีนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ฝึกงานอยู่ที่ "ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น" ร้องเรียนว่าถูกเจ้าหน้าที่ให้ปลอมลายมือชื่อชาวบ้านเพื่อเบิกจ่ายเงิน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ รายละ 2,000 บาท เงินสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์ รายละ 2,000 บาท และทุนประกอบอาชีพของผู้มีรายได้น้อย รายละ 3,000 บาท ปรากฏว่ามีการปลอมลายมือชื่อชาวบ้านเพื่อเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 2 พันคน รวมเป็นเงินเกือบ 7 ล้านบาท

จากข้อมูลเชิงลึกพบว่า ไม่เฉพาะจังหวัดขอนแก่นกับเชียงใหม่เท่านั้นที่มีปัญหานี้ แต่หลักฐานการทุจริตยังลามไปถึงจังหวัดน่าน หนองคาย ปราจีนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ด้วย
"ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง" ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พุทธศักราช 2557 เพื่อจัดสวัสดิการสังคมให้กับคน 3 กลุ่ม คือกลุ่มรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ให้ทุนประกอบอาชีพแก่ผู้มีรายได้น้อย สองส่วนนี้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 493 ล้านบาท และอีกกลุ่มหนึ่งคือเงินสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์ อีก 28 ล้านบาท
นี่คือปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในบ้านเราที่ต้องบอกว่าวิกฤติจริงๆ แตะไปตรงไหนก็พบแต่เรื่องคอร์รัปชั่น ขนาดเงินคนไร้ที่พึ่ง คนติดเชื้อเอดส์ยังโกงกันได้ ถือว่าน่าเศร้าจริงๆ

logoline