svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หนูทำได้!! "เด็กสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม"

04 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

น้องน้อยวัยละอ่อน สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมเพื่อผู้พิการ สามารถคว้า 8 รางวัลจากการประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในเวทีระดับนานาชาติ ประจำปี 2560 ณ สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 11-14 สิงหาคม 2560 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ การต่อยอดจากความคิดสร้างสรรค์สู่ผลงานจริง

เด็กไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงได้รับโอกาส"ศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.)"เล็งเห็นการเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ และโอกาสแก่เด็กได้ส่งผลงานนักเรียน เพื่อเข้าประกวดในเวทีดังกล่าว โดยมีชิ้นงานจาก 12 ประเทศเข้าร่วม


หนูทำได้!! "เด็กสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม"

โดยนักเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมได้รับรางวัล 2เหรียญทอง จากผลงานอุปกรณ์ในการเปิดประตูสำหรับผู้พิการ ของด.ช.ณัฐพัชร์ ทรัพย์สมพล นักเรียนชั้นป.5 และผลงาน Smart Wheelchair สำหรับผู้พิการขา ของทีมSWCนักเรียนชั้นป.5ได้แก่ ด.ช.ณัฎญดนัย ปิณฑานนท์ ด.ช.ปัณณธร พินิจวงศ์วิทยา ด.ช.ณฤชล ชินวัฒนกูล และด.ช.จีรทีปต์ โฆษะวิสุทธิ์


รางวัล 2 เหรียญเงิน จากผลงาน ไม้เท้าช่วยพยุงเดินเพื่อเสริมกำลังใจให้ผู้พิการของด.ช.มัชฒิมา สุวิชชโสภณ นักเรียนชั้นป. 5 ด.ช.สิรวิชญ์ พิพิธธนาบรรพ์ ด.ญ.อันนา นววิธวัฒนา และด.ช.กร เหมรัญช์โรจน์ นักเรียนชั้นป. 6 รวมถึงอุปกรณ์เสริมพัฒนาการสำหรับผู้พิการทางสมองของนักเรียนชั้นป. 5 ได้แก่ ด.ญ.ณิชมน สุภัทรเกียรติ ด.ญ.ไอริณรยา โสตางกูร ด.ช.ศุภวิชญ์ วรรณดิลก และด.ช.สุภชีพ สหกิจรุ่งเรื่อง


รางวัล 1 เหรียญทองแดง จากผลงานไม้เท้า Hi-tech สำหรับผู้พิการทางสายตาของ นักเรียนชั้นป. 4 ได้แก่ ด.ญ.มาวิตรา เตชพลกุล ด.ญ.บุญญาดา แสงมณี และด.ญ.ชุติญา จิตบุญทวีสุข


หนูทำได้!! "เด็กสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม"


ด.ช.ณัฐพัชร์กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลดังกล่าว เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ทำสิ่งประดิษฐ์และเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งแรงบันดาลใจในการคิดอุปกรณ์ดังกล่าว เนื่องจากคุณย่านั่งวิลแชร์ และเวลาเปิดปิดประตูค่อนข้างลำบาก ต้องใช้แรงจำนวนมาก จึงมองหาอุปกรณ์ที่จะช่วยให้คุณย่าได้ใช้ชีวิตเปิดปิดประตูได้สบายมากขึ้น โดยอุปกรณ์ช่วยในการเปิดปิดประตูนี้ จะสามารถทำได้ทั้ง ผลักได้ ดึงได้ และสไลด์ได้ ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายมากขึ้นอยากให้สนับสนุนให้เด็กประถมมีเวทีในการแสดงความคิด จินตนาการ

เช่นเดียวกับ 3 หนูน้อยเจ้าของเหรียญทองแดง จากผลงานไม้เท้า Hi-tech สำหรับผู้พิการทางสายตาช่วยกันเล่าว่าพวกเราเลือกประดิษฐ์ไม้เท้า Hi-tech สำหรับผู้พิการทางสายตา เพราะสายตา เป็น 80% ที่ทุกคนใช้งาน หากเราพิการทางสายตาย่อมใช้ชีวิตประจำวันยากลำบาก อย่าง การเลือกเสื้อผ้า สีเสื้อผ้า พวกเขาไม่สามารถเลือกเสื้อผ้าในการแต่งตัวได้ หรือการเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ และผู้พิการทางสายตาส่วนใหญ่จะมีการใช้ไม้เท้าคอยช่วยเวลาเดินทางอยู่แล้ว

หนูทำได้!! "เด็กสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม"


"พวกหนูได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ไฮเทคเชื่อมต่อระบบจีพีเอส และมือถือสามารถบอกเส้นรถเมล์ สีของเสื้อผ้า รวมถึงการใช้ชีวิตประจำต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนั้นได้พัฒนาสามารถชาร์ตแบต และติดตั้งไว้ตามที่ต่างๆของไม้เท้าได้ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พวกเราได้สร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ ได้ช่วยเหลือผู้อื่น แถมได้ไปแข่งขันต่างประเทศเกาหลี ได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ การใช้ชีวิตของผู้คนเกาหลี ก่อนทำสิ่งประดิษฐ์ก็ต้องศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล การทำกิจกรรมเหล่านี้ให้ประโยชน์ เปิดโลกทัศน์ และประสบการณ์ชีวิตแก่พวกเรามากมาย อยากให้มีหน่วยงานต่างๆ จัดเวทีให้เด็กประถมได้แข่งขัน ใช้จิตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงานสิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคม"3 หนูน้อยจากสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมกล่าว

องค์ความรู้ไม่ได้มีเฉพาะในชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว น้องๆทีม SWC เจ้าของ ผลงานชื่อ SMART WHEELCHAIR ได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษจาก WORLD INTELLECTUAL PROPERTY ORGANIZATION (WIPO)เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ชิ้นดังกล่าวว่ามีแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นที่อยากจะช่วยพี่ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ต้องถูกตัดขา เหนือเข่า 2 ข้างตอนอายุ 15 ปี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นนักเรียนอยู่ อ.บ้านนา จ.นครนายก เวลาเธอลงมานั่งทำกิจกรรมบนพื้นแล้วจะกลับขึ้นไปนั่งบนรถเข็นธรรมดาลำบากมาก และไม่ปลอดภัย เด็ก ๆ จึงมีแนวคิดอยากสร้างรถ SMART WHEELCHAIR ที่ สามารถ "ปรับระดับลงถึงพื้นได้" ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า เพื่อช่วยให้ผู้ที่ขาขาดทั้งสองข้างสามารถขึ้นลงได้ง่าย ปลอดภัย และ "ปรับสูงกว่าปกติ" เพื่อให้หยิบของบนที่สูงหรือนั่งกับโต๊ะระดับสูงหรือเคาน์เตอร์ได้

หนูทำได้!! "เด็กสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม"


"พวกเราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายจากการประดิษฐ์รถ SMART WHEELCHAIR ให้ ได้ศึกษาหาข้อมูลรู้ถึงความต้องการของผู้พิการจริงๆ ซึ่งพวกพี่เขาแม้นั่งวิลแชร์แต่ก็เวลาขึ้นลงลำบากมาก รถของพวกเราจะช่วยให้พวกพี่ๆ ได้ใช้ชีวิตได้สะดวกสบายมากขึ้น และได้มีการนำรถไปให้พี่เขาทดลองขึ้นรถ โดยลดระดับเก้าอี้ลงมาถึงพื้น ได้เห็นว่าพี่เขาขึ้นได้ง่ายมาก และปลอดภัย ได้เห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของเธอพวกเราก็สุขใจ อยากให้ผู้ใหญ่ช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ เพราะเด็กทุกคนล้วนมีความสามารถเพียงแต่พวกเขาอาจขาดโอกาส"4 หนุ่มน้อยกล่าว

หนูทำได้!! "เด็กสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม"

หนูทำได้!! "เด็กสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม"

หนูทำได้!! "เด็กสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม"

ตบท้ายด้วยอ.จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์อาจารย์ที่ปรึกษาของน้องๆ ที่เข้าร่วมการประกวดเล่าว่าศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้ส่งเสริมให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ได้เข้าร่วมการประกวดแข่งขันต่างๆ ปีนี้เป็นปีที่ 3 ซึ่งได้สร้างสรรค์ผลงานมาแล้ว 19 ชิ้น และในปีนี้พิเศษเพราะมีการจำกัดหัวข้อว่าต้องสร้างสิ่งประดิษฐ์สำหรับผู้พิการ ทำให้เด็กๆ ต้องไปศึกษาข้อมูล สำรวจความต้องการของผู้พิการถึงจะคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ได้ และเมื่อพวกเขาได้ไปสัมผัส เรียนรู้จะทำให้ได้ทั้งความรู้ ความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่นในสังคม อยากทำสิ่งดีๆ ช่วยเหลือผู้พิการ

เวทีสำหรับเด็กประถมมีไม่มากนัก อยากให้ทุกหน่วยงานเปิดโอกาสให้เด็กประถมได้มีแสดงความรู้ความสามารถ ซึ่งเด็กประถมมีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และพวกเขามีไอเดียมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

logoline