svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คนไทยบริโภคน้ำตาลเกินเท่าตัว

10 พฤศจิกายน 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สสส.เปิดผลสำรวจพบคนเมืองบริโภคน้ำตาลสูงเกินร่างกายรับได้ถึง1เท่าตัว ชี้พฤติกรรมเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง( NCD) ทั้งเบาหวาน ความดันก่อนไม่รู้ตัว

ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ หัวหน้าโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงผลการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานจากผลการสำรวจปริมาณน้ำตาลในร้านขายเครื่องดื่มบนถนนสายเศรษฐกิจ เนื่องในวันเบาหวานโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พ.ย.ของทุกปีว่า จากการสำรวจปริมาณน้ำตาลของร้านขายเครื่องดื่มบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท ถนนราชวิถีรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนสีลม เพื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม 1 แก้ว ปริมาณ 250 มิลลิลิตร จำนวนร้านค้า 62 ร้านค้า โดยเก็บตัวอย่างเมนูยอดนิยม 1 ใน 5 อันดับ และเครื่องดื่มที่มาจากร้านที่ให้ความร่วมมือในการวิจัย รวม 270 ตัวอย่าง

พบว่า เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1.แดงโซดา ปริมาณน้ำตาล 15.5 ช้อนชา 2. โอวัลติน 13.3 ช้อนชา 3.ชามะนาว 12.6 ช้อนชา 4.ชาดำเย็น 12.5 ช้อนชา และ 5. นมเย็น 12.3 ช้อนชา ส่วนชาเย็น กาแฟเย็น ชาเขียวเย็น มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 11 ช้อนชา และโกโก้มีปริมาณน้ำตาล 10.8 ช้อนชา โดยเครื่องดื่มบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด รองลงมาคือวิทยาเขตพญาไท และถนนสีลม ตามลำดับ ซึ่งมาจากความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความนิยมของบุคคล
"ผลการศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าองค์การอนามัยโลกแนะนำไม่ควรบริโภคน้ำตาลจากอาหารทุกชนิดเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่จากผลการสำรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มย่านการค้าและใจกลางเมืองกลับพบว่า เพียงบริโภคเครื่องดื่มหวาน 1 แก้ว ปริมาณ250 มล. ก็มีปริมาณน้ำตาลที่เกินความต้องการที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันเกือบเท่าตัว นอกจากนี้จากเดิมที่คาดว่า เครื่องดื่มประเภทขุ่นที่มีส่วนผสมของนม นมข้นหวานหรือครีมเทียมจะมีปริมาณน้ำตาลมากกว่า แต่กลับพบว่า เครื่องดื่มประเภทใสกลับมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า ซึ่งอาจเนื่องจากชามะนาวที่รสเปรี้ยวของมะนาว ทำให้ต้องใส่มะนาวเพิ่มความหวานมากขึ้น" ศ.พญ.ชุติมา กล่าว

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. กล่าวว่า พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานบนถนนสายเศรษฐกิจสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนวัยทำงานและนักศึกษา ซึ่งถือเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศเพราะเป็นกลุ่มผลิตภาพหลักในการสร้างรายได้ของประเทศ จึงเป็นตัวชี้วัดถึงสัญญาณอันตรายโดยไม่รู้ตัว เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารอาหารน้อย มีแต่น้ำตาลและไขมันในปริมาณสูง ซึ่งเป็นรากของปัญหา NCD ทั้งเบาหวาน ความดัน หากไม่ทำความเข้าใจกับกลุ่มนักศึกษาและวัยทำงานเราจะได้คนในประเทศที่มีปัญหาสุขภาพในระยะยาว

"จากผลการศึกษาจะพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วปริมาณเครื่องดื่มหวานเพียง 1 แก้ว จะมีปริมาณน้ำตาลที่มากกว่าปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ ซึ่งการดื่มน้ำหวานจะดูดซึมได้เร็วมากกว่าการกินอาหารหรือขนม เพราะเหมือนเป็นการกระหน่ำน้ำตาลในร่างกายทำให้ตับอ่อนทำงานอย่างหนักด้วยการผลิตอินซูลินเข้ามาจัดการเพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือด คนจึงเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุยังน้อยมากขึ้น" ทพญ.ปิยะดา กล่าว

ผู้อำนวยการโครงการเครือข่ายรณรงค์เด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า การปรับพฤติกรรมการบริโภคไม่สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส.จึงได้ทำงานร่วมกับกลุ่มองค์กร โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งอาหารว่างสุขภาพในองค์กรภาครัฐและเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อสร้างค่านิยมและความเคยชินในองค์กร การสนับสนุนให้มีโรงอาหารทางเลือกให้มีเครื่องดื่มชงลดความหวาน นอกจากนี้ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาได้เพิ่มมาตรการขนมเพื่อลดภาวะอ้วน เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าสามารถทำได้ในทางปฏิบัติซึ่งจะส่งผลต่อการปรับพฤติกรรมไปในตัว

อนึ่ง ข้อมูลจากสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ พบว่า ในปี 2558 มีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ที่ 415 ล้านคน โดยทุก 6 วินาทีจะผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน และ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัว ขณะที่ประเทศไทยข้อมูลจากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยด้วยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557-2558 ของสสส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ พบว่า ปัจจุบันมีคนไทยที่ป่วยเป็นเบาหวานถึง 4 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือพบกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวอีกถึง 7.7 ล้านคน ซึ่งคนในกลุ่มหลังหมายถึง ร้อยละ 5-10 ต่อปี จะเป็นเบาหวานหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ โดยปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมาจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต

logoline