svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สตง.ยัน! โครงการซื้อเรือดำน้ำโปร่งใส การันตีศักยภาพบ.เอกชนจีน

22 พฤษภาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ผู้ว่าสตง."ยันโครงการซื้อเรือดำน้ำทร.ไม่ผิดปกคิยันทำตามขั้นตอนของบประมาณไม่มีความเสี่ยงต่อความเสียหายในอนาคต การันตีบ.เอกชนของจีน มีศักยภาพ ผลิตงานที่ทันสมัย

22 พ.ค.60 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงยืนยันว่าการโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ หยวนคลาส S26T จากประเทศจีน ของกองทัพเรือ มูลค่าโครงการ 36,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)  18 เม.ย. 2560  นั้น ไม่มีความผิดปกติ และถือว่าทำตามขั้นตอนของระเบียบวิธีการขอจัดสรรงบประมาณ ที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), การเสนอโครงการที่ผ่านความเห็นจากที่ประชุม ครม. , ขั้นตอนที่เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ที่ระเบียบของ สตง. ระบุไว้ รวมถึงไม่มีความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายพิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า 1.การตรวจสอบข้อมูล ผ่านเอกสารและหลักฐานของกองทัพเรือที่เสนอของบประมาณ ประจำปี 2560 พบว่ามีการระบุชัดเจนว่าจะมีการจัดซื้อเรือ ในหมวดของการพัฒนากองทัพ  ซึ่งประเด็นของการจัดซื้อเรือดำน้ำที่มีผลผูกพันงบประมาณ ไปจนถึง ปี 2566 มูลค่ารวม 36,000 ล้านบาทนั้น กำหนดถึงประเด็นการแบ่งจ่ายงบประมาณ เป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ผูกพันงบประมาณ ปี 2560 จำนวน 700 ล้านบา และในปีต่อไปจะผูกพันไม่เกิน 200 ล้านบาท  และผูกพันต่อไปจนครบวงเงินโครงการที่ 36,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงไม่มีความผิดปกติต่อประเด็นการเสนอของบประมาณ และกรณีดังกล่าวถือว่าผ่านการตรวจสอบโดยตัวแทนของประชาชนแล้ว
ผู้ว่าสตง.กล่าวอีกว่า ประเด็น 2  กรณีการเสนอโครงการจัดซื้อ พบว่าได้เสนอผ่านสำนักงบประมาณ และได้รับการบัญญัติไว้ในส่วนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว, ประเด็น 3 กรณีที่ถูกมองว่าการจัดซื้อโครงการดังกล่าวเป็นในรูปแบบสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และเข้าข่ายต้องพิจารณาในที่ประชุม สนช. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 กำหนด , ประเด็น 4 กรณีการลงนามสัญญาที่เป็นผลผูกพันระหว่างรัฐบาลจีน ผ่านบริษัทเอกชนต่อเรือ กับรัฐบาลไทย ผ่านกองทัพเรือนั้น จากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่เข้าข่ายเป็นสนธิสัญญา และไม่ใช่กรณีของการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ เพราะเป็นเพียงสัญญาเชิงพาณิชย์ปกติเท่านั้น ทั้งนี้ตามเอกสารที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็น ยืนยันชัดเจนว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 178
"ทั้งนี้ประเด็นจัดซื้อเรือดำน้ำ ถูกจัดอยู่ในหมวดยุทธภัณฑ์ หรือยุทธโธปกรณ์ จึงถูกยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในขั้นตอนการจัดซื้อที่ต้องใช้ระเบียบทางพัสดุ เพราะประเด็นทางความมั่นคงจำเป็นต้องคำนึงถึงลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะความจำเป็นบางประการ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาได้ประกาศเชิญชวนให้ประเทศที่สนใจเข้าร่วม และมี 6 ประเทศที่สนใจ แต่สิ่งที่ที่ต้องพิจารณาสำคัญ คือ คุณภาพ ประโยชน์ใช้สอย ที่สัมพันกับงบประมาณของประเทศ" ผู้ว่า สตง. กล่าว
นายพิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ประเด็น 5  กรณีที่มีข่าวว่ามีคนกลางเป็นผู้เจรจาโครงการดังกล่าว จากการตรวจสอบไม่พบคนกลาง ทั้งจากกองทัพเรือ และคนกลางที่เป็นคนขอรัฐบาลประเทศจีน ดังนั้นจึงไม่มีความผิดปกติ ส่วนกรณีที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าการลงนามตามที่เป็นข่าวในประเทศจีนเป็นเพียงบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐบาลจีน แต่ข้อเท็จจริงแล้ว บริษัทเอกชนดังกล่าว คือ วิสาหกิจที่รัฐบาลจีนดูแลดังนั้น ถือว่าต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลจีนและหน่วยงานตรวจสอบ เช่น สตง. ประเทศจีนด้วย  อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศจีนถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีต่อการพัฒนาอุปกรณ์ที่มีความทันสมัย
"จากที่สตง. ตรวจสอบและพิเคราะห์แล้วเห็นว่าครม.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และละเอียด มีพบข้อเสียหาย รวมถึงความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดในอนาคต ตามที่ตั้งประเด็นเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเรือเหาะที่ใช้ในภารกิจภาคใต้ ดังนั้นทางหน่วยงานสามารถดำเนินการได้ ซึ่งประเด็นตรวจสอบนี้ ไม่ใช่การฟอกขาวให้กับรัฐบาลหรือหน่วยงานใด เพราะสตง. จะไม่นำเกียรติประวัติ หรือเกียรติประวัติไปติดคุกแทนใคร" นายพิศิษฐ์ กล่าว
ผู้ว่า สตง. กล่าวตอนท้ายด้วยว่า หลังจากนี้ สตง. จะตรวจสอบรายละเอียดของโครงการดังกล่าวในขั้นตอนที่เหลือ รวมกับประสานงานร่วมกับ สตง.ประเทศจีนเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้ยืนยันได้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่มีความผิด ตามระเบียบวินัยการเงินการคลัง ดังนั้นเมื่อปัจจุบันไม่มีความผิดปกติ หรือความผิด แม้จะมีกฎหมายว่าด้วยระเบียบวินัยการเงินการคลังบังคับใช้ในอนาคตก็จะถือว่าไม่มีความผิดอยู่ดี อย่างไรก็ตามตนเข้าใจว่า โครงการดังกล่าวนั้นจะทำตามขั้นตอนทางสัญญาได้ก่อนที่จะมีร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบวินัยการเงินการคลัง ที่ต้องออกจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบักำหนดแน่นอน

logoline