svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

Digital Economy Scorecard ตัวชี้วัดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศ

12 มีนาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หนึ่งในนโยบายสำคัญที่มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางของรัฐบาลในปัจจุบันคือการขับเคลื่อนไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ซึ่งหมายถึงระบบเศรษฐกิจที่มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงธุรกรรมต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมและสารสนเทศ โดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ Digital Economy 5 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (2) การสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการให้บริการ (4) การส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และ (5) การพัฒนาดิจิทัลเพื่อสังคมและทรัพยากรความรู้ ซึ่งในภาพรวมแล้วแนวทางในการขับเคลื่อนไปสู่ Digital Economy ของประเทศไทยนั้นสอดคล้องกับแนวทางสากลที่มีการปฏิบัติในต่างประเทศ หากเพียงแต่ว่าในปัจจุบันยังไม่ได้มีการกำหนดหรือกล่าวถึงในวงกว้างถึงเป้าหมายและการวัดความสำเร็จของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่ Digital Economy ว่าจะสามารถวัดได้อย่างไร?
ในต่างประเทศ เช่นประเทศในยุโรปนั้นได้มีการจัดทำ Digital Economy Scorecard ขึ้นเพื่อเป็นกรอบมาตรฐานสำหรับทุกประเทศในสหภาพยุโรป (European Union) ในการวัดและเปรียบเทียบความก้าวหน้าและความสำเร็จของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไปสู่ยุค Digital Economy แนวคิดนี้คล้ายคลึงกับการวัดประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ โดยกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ โดย Digital Economy Scorecard ของประเทศในยุโรปจะแสดงถึงระดับความเป็นดิจิตอลของประเทศต่างๆ ซึ่งมีการวัดค่าโดยใช้ Digital Economy and Society Index (DESI)  ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ด้านหลัก ได้แก่
ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) เป็นการวัดการเข้าถึงและคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ของประเทศ โดยการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ที่มีคุณภาพสูงนั้นเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาบริการต่างๆ ในยุคดิจิตอล
ด้านทุนมนุษย์ (Human Capital) เป็นการวัดทักษะที่จำเป็นในการใช้ประโยชน์จากสังคมดิจิตอล โดยทักษะดังกล่าว หมายรวมทั้ง (1) ทักษะพื้นฐานของบุคคลในการใช้งานระบบออนไลน์และการบริโภคสินค้ายุคดิจิตอล และ (2) ทักษะขั้นสูงในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อเพิ่มผลิตผลและสร้างการเจริญเติบโตในระบบเศรษฐกิจ
ด้านการใช้งานอินเตอร์เน็ต (Use of Internet) เป็นการวัดความถี่ของกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนบนโลกออนไลน์ ตัวอย่างเช่น ความถี่ในการบริโภคเนื้อหาออนไลน์ (เช่น วีดิโอ เพลง เกม และอื่นๆ) รวมไปถึงกิจกรรมการใช้งาน social media หรือการซื้อขายออนไลน์ และการธนาคาร
ด้านการผนวกเทคโนโลยีดิจิตอล (Integration of Digital Technology) เป็นการวัดความเป็นดิจิตอลของธุรกิจและการใช้ประโยชน์จากช่องทางขายสินค้าออนไลน์ เช่น การใช้งานระบบ ecommerce การใช้งานระบบ cloud การขายของออนไลน์ของ SME เป็นต้น 
ด้านบริการดิจิตอลสาธารณะ (Digital Public Service) เป็นการวัดความเป็นดิจิตอลของบริการสาธารณะ ได้แก่ eGovernment และ eHealth โดยวัดความแพร่หลายในด้านต่างๆ เช่น การใช้แบบฟอร์มและการเก็บข้อมูลออนไลน์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบออนไลน์ เป็นต้น
โดยแต่ละด้านมีการกำหนดตัวชี้วัดย่อยๆ หลายตัวชี้วัดซึ่งสามารถวัดในเชิงปริมาณได้ ตัวอย่างเช่น ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) จะประกอบไปด้วย 5 ตัวชี้วัดย่อยได้แก่
การเชื่อมต่อบรอดแบนด์แบบสาย (Fixed Broadband) วัดโดยใช้เปอร์เซ็นต์พื้นที่ครอบคลุม และเปอร์เซ็นต์ที่ครัวเรือนเข้าถึงบรอดแบนด์แบบสายได้
การเชื่อมต่อบรอดแบนด์แบบเคลื่อนที่ (Mobile Broadband) วัดโดยใช้เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกที่ใช้งานต่อประชากรทั้งหมด และเปอร์เซ็นต์ของคลื่นความถี่ที่จัดสรรต่อคลื่นความถี่ที่สามารถนำมาใช้งานในบรอดแบนด์ไร้สายได้ 
ความเร็วในการเชื่อมต่อ (Speed) วัดโดยใช้เปอร์เซ็นต์ครัวเรือนที่เข้าถึงบรอดแบนด์ที่มีความเร็วขั้นต่ำ 30 Mbps ในการดาวโหลดได้ และเปอร์เซ็นต์ของสมาชิกที่ใช้งานบรอดแบนด์ความเร็วขั้นต่ำ 30 Mbps ต่อสมาชิกการใช้งานบรอดแบนด์แบบสายทั้งหมด
ความสามารถในการเข้าถึงบริการ (Affordability) วัดโดยใช้ค่าบริการต่ำที่สุดต่อเดือนของการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพียงอย่างเดียวที่อัตราดาวโหลด (ที่โฆษณาไว้) ตั้งแต่ 12 ถึง 30 Mbps  
ผลของการวัดความเป็น Digital Economy ของประเทศในยุโรปด้วยดัชนี DESI ที่มีการวัดในปี 2015 แสดงได้ตามรูปด้านบน โดยจะเห็นว่าประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศ เดนมาร์ก สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเบลเยี่ยม ส่วนประเทศที่ได้คะแนนต่ำที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โรมาเนีย บัลกาเรีย กรีซ อิตาลี และ โครเอเชีย ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทย เราอาจจะนำวิธีการวัดความเป็น Digital Economy ด้วยดัชนี DESI มาประยุกต์ใช้เพื่อใช้วัดความสำเร็จในการขับเคลื่อน Digital Economy ของประเทศได้ เนื่องจากดัชนีชี้วัด DESI  ใช้เป็นกรอบในการวัดความสำเร็จไม่เพียงแต่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิตอลเท่านั้นแต่รวมไปถึงการพัฒนาสังคมดิจิตอล (Digital Society) ของภาคประชาชน ธุรกิจ และบริการสาธารณะด้วย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน Digital Economy ของประเทศจึงควรมีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อให้การขับเคลื่อน Digital Economy  เป็นไปอย่างยั่งยืนและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงภาคประชาชนและภาคธุรกิจจะได้สามารถติดตามและทราบถึงระดับความสำเร็จของการดำเนินงาน Digital Economy ของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของรัฐบาลได้ การกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามไป

logoline