svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

ศึกสัประยุทธ์ "ชุดแข่ง" ในศึกยูโร 2020

25 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผ่านมาครึ่งทางแล้วสำหรับศึก "ยูโร 2020" สงครามแข้งของเหล่าชาติยุโรปที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกัน "สงคราม" นอกสนามระหว่างผู้ผลิตชุดแข่งแต่ละเจ้า ก็กำลังแย่งชิงบัลลังก์กันอย่างเข้มข้นเช่นกัน

สงครามระหว่างผู้ผลิตชุดแข่งในมหกรรมกีฬาระดับโลก มีมาอย่างยาวนานนับครึ่งศตวรรษ ที่แฟนๆกีฬาเห็นการแข่งขันที่เด่นชัด อยู่ที่การชิงชัยระหว่างสองค่ายใหญ่ อย่าง "ไนกี้" และ อาดิดาส"

 

กลยุทธ์ของอาดิดาสจะมุ่งไปที่การเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันรายการใหญ่ๆ เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลโลก หรือฟุตบอลยูโร และใช้เวทีเหล่านี้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงรองเท้าสตั๊ด และลูกฟุตบอลประจำทัวร์นาเม้นท์ ขณะที่ไนกี้จะเน้นไปที่การเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้นักฟุตบอลชื่อดัง เนื่องจากมองว่าคอลูกหนังต้องการดูตัวนักเตะมากกว่าดูว่าใครเป็นสปอนเซอร์จัดการแข่งขัน ทำให้บรรดานักเตะดังของโลกเซ็นสัญญาใช้ผลิตภัณฑ์ของไนกี้มากกว่าอาดิดาสเกือบเท่าตัว

 

สำหรับเรื่องชุดแข่ง ช่วงแรก "อาดิดาส" ซึ่งเป็นแบรนด์ดังของเยอรมนี ครองความยิ่งใหญ่ในตลาดยุโรป ทั้งทีมชาติและสโมสรส่วนใหญ่แทบจะใช้ชุดแข่งจากแบรนด์นี้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม "ไนกี้" แบรนด์จากสหรัฐฯ เริ่มขยับเข้าสู่การเป็นผู้สนับสนุนชุดแข่งทีมชาติมากขึ้นเรื่อยๆในช่วง 20-30 ปีหลัง สังเกตได้จากในศึกฟุตบอลโลกปี 1998 มีทีมชาติที่ใส่เสื้อของไนกี้ลงแข่งขันเพียง 6 ทีมเท่านั้น และกระโดดมาเป็น 8 ทีมในปี 2002, 9 ทีมในปี 2010, 10 ชาติในปี 2014 และ 12 ชาติในฟุตบอลโลก 2018

 

อย่างไรก็ตามหากนับเฉพาะศึกฟุตบอลยูโร ถือว่า อาดิดาส ยังเป็นเบอร์ 1 มาตลอด โดยนับตั้งแต่ในศึกยูโร 1996 จนถึง ยูโร 2016 อาดิดาสครองแชมป์จำนวนทีมที่ใช้ชุดแข่งของพวกเขาทุกครั้ง ขณะที่ทีมแชมป์ยูโร 5 จาก 6 ครั้งหลัง ก็ใช้ชุดแข่งของอาดิดาสทั้งสิ้น มีเพียงยูโรครั้งล่าสุด (2016) ที่ทีมแชมป์อย่างโปรตุเกส ใช้ชุดแข่งของไนกี้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่นั่นก็เป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นว่า ไนกี้ เริ่มขยับเข้าใกล้ตำแหน่งหมายเลข 1 เข้ามาเรื่อยๆ

 

จนกระทั่งในศึกฟุตบอลยูโร 2020 ครั้งนี้ ไนกี้ ก็สามารถโค่นบัลลังก์แชมป์จากอาดิดาสได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยมี 9 ทีมที่ใช้ชุดแข่งของพวกเขา ประกอบไปด้วยโครเอเชีย, อังกฤษ, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, โปแลนด์, โปรตุเกส, สโลวะเกีย และตุรกี ส่วนทีมที่ใช้ชุดแข่งของอาดิดาส มีทั้งสิ้น 8 ทีม นอกจากนี้ยังมี พูม่า อีก 4 ทีม รวมถึง ฮัมเมล, โจม่า และจาโก้ อีกอย่างละ 1 ทีม

 

การขับเคี่ยวของทั้งสองค่ายไม่ได้อยู่แค่จำนวนทีม แต่รวมถึงเรื่องมูลค่าในสัญญาที่ทั้งไนกี้และอาดิดาสลงทุนไปกับแต่ละชาติด้วย โดยไนกี้ต้องจ่ายให้บรรดาทีมที่ใช้ชุดแข่งของพวกเขาทั้ง 9 ทีมรวมแล้วเป็นจำนวนถึง 101.5 ล้านปอนด์ต่อปี ขณะที่อาดิดาสจ่ายให้ทั้ง 8 ทีมรวมเป็นเงิน 91.7 ล้านปอนด์ต่อปี โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดในบรรดา 24 ทีมของศึกยูโรครั้งนี้ก็คือสัญญาระหว่างอาดิดาสกับทีมชาติเยอรมนี ที่มีมูลค่าสูงถึง 56 ล้านปอนด์ต่อปีทีเดียว

อย่างไรก็ตามแม้จะลงทุนไปมากเท่าใด ได้จำนวนทีมเยอะแค่ไหน แต่สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จจริงๆก็จะอยู่ที่ "แชมป์" ของรายการนี้ ว่าจะเป็นทีมใด เพราะหลังการคว้าแชมป์ เสื้อแข่งของทีมนั้นก็จะยิ่งขายดิบขายดีไปอีกหลายเท่าตัว

 

ส่วนทีมใดจะคว้าแชมป์ครั้งนี้ อีกไม่เกินครึ่งเดือนเป็นอันได้รู้กัน
----------
อันดับมูลค่าสัญญาสนับสนุนชุดแข่งให้แต่ละชาติในศึก "ยูโร 2020"

  • 1.เยอรมนี (อาดิดาส) 56 ล้านปอนด์/ปี
  • 2.ฝรั่งเศส (ไนกี้) 43 ล้านปอนด์/ปี
  • 3.อังกฤษ (ไนกี้) 33.3 ล้านปอนด์/ปี
  • 4.อิตาลี (พูม่า) 25.4 ล้านปอนด์/ปี
  • 5.สเปน (อาดิดาส) 15.9 ล้านปอนด์/ปี
  • 6.รัสเซีย (อาดิดาส) 10.8 ล้านปอนด์/ปี
  • 7.เนเธอร์แลนด์ (ไนกี้) 9.6 ล้านปอนด์/ปี
  • 8.โปรตุเกส (ไนกี้) 6.5 ล้านปอนด์/ปี
  • 9.ตุรกี (ไนกี้) 3 ล้านปอนด์/ปี
  • 10.เบลเยียม (อาดิดาส) 2.6 ล้านปอนด์/ปี
  • 11.โปแลนด์ (ไนกี้) 2.6 ล้านปอนด์/ปี
  • 12.สกอตแลนด์ (อาดิดาส) 2.5 ล้านปอนด์/ปี
  • 13.สาธารณรัฐเช็ก (พูม่า) 2.1 ล้านปอนด์/ปี
  • 14.สวีเดน (อาดิดาส) 1.7 ล้านปอนด์/ปี
  • 15.โครเอเชีย (ไนกี้) 1.7 ล้านปอนด์/ปี
  • 16.สวิตเซอร์แลนด์ (พูม่า) 1.7 ล้านปอนด์/ปี
  • 17.เดนมาร์ก (ฮุมเมล) 1.7 ล้านปอนด์/ปี
  • 18.เวลส์ (อาดิดาส) 1.3 ล้านปอนด์/ปี
  • 19.ยูเครน (โจม่า) 1.3 ล้านปอนด์/ปี
  • 20.ออสเตรีย (พูม่า) 1.1 ล้านปอนด์/ปี
  • 21.ฟินแลนด์ (ไนกี้) 9 แสนปอนด์/ปี
  • 22.สโลวะเกีย (ไนกี้) 9 แสนปอนด์/ปี
  • 23.ฮังการี (อาดิดาส) 9 แสนปอนด์/ปี
  • 24.นอร์ธ มาซิโดเนีย (จาโก้) 4 แสนปอนด์/ปี
logoline