svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดมติสมาชิกรัฐสภารับร่างรธน. พบ.ส.ว.พร้อมใจกันโหวตให้เพียงฉบับเดียว

25 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดมติสมาชิกรัฐสภา เขี่ยและรับร่างรธน.ของใครแค่ไหน อย่างไร หลังใช้เวลา กว่า 8 ชั่วโมง ขานทั้ง 13 ฉบับ แต่รับหลักการเพียงฉบับเดียว ว่าด้วยเรื่องแก้ไขระบบเลือกตั้ง ใช้บัตร 2 ใบ ของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้พบว่ามีส.ว.ตั้งใจรับเพียงฉบับเดียว

ภายหลังสิ้นสุด การลงมติของสมาชิกรัฐสภา ในการรับหลักการร่างรธน. ทั้ง13 ฉบับ กว่า 8 ชั่วโมง ผลคือ รับหลักการเพียงฉบับเดียว ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าด้วยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้ใช้บัตร 2 ใบ เลือก ส.ส.เขต 400 คนและส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ทั้งนี้พบว่ามีส.ว.ตั้งใจรับเพียงฉบับเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงผลการลงมติรับหรือไม่รับหลักการ ของสมาชิกรัฐสภา เมื่อช่วงดึกวันที่ 24 มิถุนายน ในวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ปรากฏว่าลำดับที่ 13 ว่าด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ให้ มีส.ส. 500 คน จากเขต 400 คน และจากบัญชีรายชื่ออีก 100 คน โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพียงฉบับเดียว ที่รัฐสภามีมติรับหลักการ ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 256(3) ที่ต้องมีเสียงเห็นชอบในชั้นรับหลักการ ด้วยเสียง ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา คือ จำนวน 367 เสียง จากสมาชิกรัฐสภาที่มี 733 เสียง และกำหนดให้เสียงเห็นชอบ ต้องมีเสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือจำนวน 84 เสียง

โดยฉบับที่ 13 มีเสียงรับหลักการ รวม 552 เสียง เป็นเสียงส.ส. 342 เสียง และ ส.ว. 210 เสียง ทั้งนี้มีเสียงไม่รับหลักการ 24 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 19 เสียง ส.ว. 5 เสียง ทั้งนี้มีผู้งดออกเสียง 130 เสียง แบ่งเป็นส.ส. 119 เสียง ส.ว. 11 เสียง โดยเสียงส.ส.ที่เห็นชอบนั้น ส่วนใหญ่ มากจาก พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนส.ว. ส่วนใหญ่ที่รับหลักการรวมถึง พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วย ทั้งนี้การลงคะแนนของส.ว. ที่รับหลักการ พบว่า มีความตั้งใจลงมติรับหลักการเพียงฉบับเดียว ขณะที่อีก 12 ฉบับ นั้น ลงมติไม่รับหลักการ หรือ ลงมติงดออกเสียงมากถึง 177 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส. ที่ไม่รับหลักกการ มาจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย อาทิ นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ พรรคพลังธรรมใหม่ คือ นพ.ระวี มาศฉมาดล พรรคเสรีรวมไทย อาทิ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังไทยรักไทย ส่วนส.ว. 5 เสียงที่ไม่รับหลักการ ได้แก่ นายพลเดช ปิ่นประทีป ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ และ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร

สำหรับคะแนนงดออกเสียง ในฝั่ง ของส.ส. 119 เสียง ส่วนใหญ่จากพรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็ก เช่น พรรคพลังท้องถิ่นไท เป็นต้น ขณะที่ส.ว. งดออกเสียง 11 เสียง ได้แก่ นายอำพล จินดาวัฒนะ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ นางดวงพร รอดพยาธิ์ คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล นายอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ และ พ.ต.อ.ยุทธกร วงเวียน
สำหรับส.ว. ที่เป็นโดยตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพ ทั้ง 5 คน ได้แก่ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศแทน และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่เข้าร่วมการลงมติในวาระดังกล่าว
สำหรับรายละเอียดผลคะแนนแต่ละฉบับดังนี้

1. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคพลังประชารัฐ แก้ไข 5 ประเด็น
-ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 334 เสียง เป็น ส.ส. 334 เสียง ส.ว. 0 เสียง ไม่เห็นชอบ 199 เสียง งดออกเสียง 173 เสียง ไม่ผ่านการรับหลักการ
2. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็นสิทธิและเสรีภาพ
- ที่ประชุมมีมติ รับหลักการ 399 เสียง ส.ส. 393 ส.ว. 6 เสียง ไม่เห็นชอบ 136 เสียง งดออกเสียง 171 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
3. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็นระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 376 เสียง ส.ส. 340 ส.ว. 36 เสียง ไม่เห็นชอบ 89 เสียง งดออกเสียง 241 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ

4. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็น ปิดสวิตช์ ส.ว.
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 455 เสียง ส.ส. 440 ส.ว. 15 เสียง ไม่เห็นชอบ 111 เสียง งดออกเสียง 150 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
5. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็นยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 327 เสียง ส.ส.326 ส.ว.1 เสียง ไม่เห็นชอบ 150 เสียง งดออกเสียง 229 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
6. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคภูมิใจไทย ประเด็นประแก้ยุทธศาสตร์ชาติ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 454 เสียง ส.ส.419 ส.ว.35 ไม่เห็นชอบ 86 เสียง งดออกเสียง 166 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
7. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคภูมิใจไทย ประเด็นหน้าที่ของรัฐแก้ปัญหาความยากจน
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 476 เสียง ส.ส.421 ส.ว.55 ไม่เห็นชอบ 78 เสียง งดออกเสียง152 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
8. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นสิทธิเสรีภาพ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 469 เสียง ส.ส. 421 ส.ว. 48 ไม่เห็นชอบ 75 เสียง งดออกเสียง 162 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ

9. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นสัดส่วนการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 415 เสียง ส.ส. 400 ส.ว. 15 ไม่เห็นชอบ 102 เสียง งดออกเสียง 189 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
10. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นการตรวจสอบ ป.ป.ช.
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ431 เสียง ส.ส.398 ส.ว. 33 ไม่เห็นชอบ97 เสียง งดออกเสียง 178 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
11. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรีและปิดสวิตช์ ส.ว.
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ461 เสียง ส.ส. 440 ส.ว.21 ไม่เห็นชอบ 96 เสียง งดออกเสียง 149 ไม่ผ่านรับหลักการ
12. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นกระจายอำนาจท้องถิ่น
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 457เสียง ส.ส.407 ส.ว.50 ไม่เห็นชอบ 82 เสียง งดออกเสียง 167 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
13. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 552 เสียง ส.ส. 342 ส.ว.210 ไม่เห็นชอบ 24 เสียง งดออกเสียง 130 เสียง ผ่านรับหลักการ

logoline