svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คิกออฟฉีด"ซิโนฟาร์ม"วันนี้ "ไฟเซอร์"ขึ้นทะเบียนแล้ว สปสช.แจงเยียวยาผลกระทบเฉพาะฉีดวัคซีนฟรีเท่านั้น

25 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศบค.แจงการกระจายวัคซีนจะมากขึ้นในเดือน ก.ค. ย้ำไม่ทอดทิ้งจังหวัดใด แต่พิจารณาพื้นที่เสี่ยงสูงก่อน เผยสถิติผลข้างเคียงวัคซีน 2 ชนิด มีอาการไม่พึงประสงค์ 945 ราย ยันไม่มีเสียชีวิตจากวัคซีน สปสช.แจงเยียวยาคนฉีดวัคซีนแล้วแพ้เฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนฟรีเท่านั้น อย.อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีน "ไฟเซอร์" เป็นตัวที่ 6 แล้ว "บิ๊กตู่" เตรียมตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีน"ซิโนฟาร์ม" ดีเดย์วันนี้

วานนี้(24 มิ.ย.64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. มีการฉีดไป 251,985 โดส ข้อมูลผู้ได้รับวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ.-23 มิ.ย. 8,400,320 โดส ในที่ประชุม ศบค.มีการหารือถึงการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ที่ลงทะเบียนหมอพร้อมและมีคิวฉีดตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป เมื่อเราได้วัคซีนแล้วจะพิจารณาฉีดให้กลุ่มนี้เร็วขึ้น เพราะหากคนกลุ่มนี้ติดเชื้อแล้วจะมีอาการหนัก อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าการกระจายวัคซีนจะมากขึ้นในเดือน ก.ค. เพราะวัคซีนมีมากขึ้น ยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งจังหวัดใด แต่ต้องพิจารณาจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงก่อน

จากนั้น นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงถึงกรณีการติดตามเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า ภาพรวมของการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีการสรุปข้อมูลวันที่ 21 มิ.ย.64 เวลา 16.30 น. จำนวนผู้ฉีดวัคซีนทั้งหมด 7,906,696 โดส มีการเก็บข้อมูลทั้งหมดว่าอะไรเป็นเหตุร่วม โดยที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ซึ่งในภาพรวมการฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดและ 2 เข็ม พบว่าผู้ป่วยที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เข้าเกณฑ์ต้องสอบสวนโรคคือ ต้องเข้ารับรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลอย่างน้อย 3 วัน มีทั้งหมด 1,945 คน คิดเป็นประมาณ 24 คนต่อการฉีด 100,000 โดส ส่วนการเจ็บป่วยร้ายแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น มีอาการแพ้อย่างรุนแรงหรือเสียชีวิต คิดเป็น 1.30 รายต่อการฉีด 100,000 โดส แยกเป็นซิโนแวค มีผู้ฉีดเข็มที่หนึ่งแล้ว 3,370,000 กว่าโดส ส่วนเข็มที่สอง 2,176,933 โดส ส่วนการเสียชีวิตถ้าดูผล

สรุปสุดท้ายเป็นเหตุที่ไม่ได้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่เมื่อมีรายงานก็ต้องเก็บรวบรวมมาทั้งหมด เพื่อแยกแยะหาสาเหตุให้ชัดเจน พบว่าการเสียชีวิต 44 ราย หลังการฉีดเข็มที่หนึ่งคิดเป็น 1.3 ต่อแสน ส่วนหลังการฉีดเข็มที่สองมี 7 ราย หรือ 0.3 ต่อแสน ถือเป็นค่าที่ต่ำกว่าเหตุการณ์ปกติก่อนที่จะมีวัคซีน ส่วนแอสตร้าเซนเนก้ามีการฉีดเข็มที่หนึ่งไปแล้ว 2,300,000 กว่าโดส เข็มที่สอง 50,000 โดส ส่วนการเสียชีวิตหลังเข็มที่หนึ่ง 49 ราย หรือ 2 ต่อแสน เข็มที่สอง 1 ราย คิดเป็น 1.96 ต่อแสน
"การได้รับวัคซีนสะสมมีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนที่เข้าเกณฑ์ร้ายแรงสะสมจำนวน 945 ราย พิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญเสร็จแล้วจำนวน 327 ราย และอยู่ระหว่างการติดตามข้อมูล 618 ราย โดยมีอาการไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวกับวัคซีนอยู่ และเป็นส่วนที่แพทย์สามารถดูแลแก้ไขได้เป็นอย่างดี แต่ไม่เป็นส่วนที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต แต่จะเป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน นอกจากนั้นจะเป็นปฏิกิริยาจากการแพ้ หลังการฉีดวัคซีนอาจจะมีอาการผื่นภูมิแพ้คล้ายลมพิษเกิดขึ้นได้ ซึ่งเกิดขึ้นในผู้ฉีดซิโนแวค 21 ราย ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าไม่มีรายงาน นอกจากนั้นจะมีอาการที่พบมากในการฉีดซิโนแวค คือเวียนศีรษะ และคลื่นไส้ ส่วนที่พบมากในแอสตร้าเซนเนก้า คืออาการไข้และปวดศีรษะ อย่างไรก็ตาม อาการทั้งหมดที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัย ไม่ได้เป็นเหตุที่อันตราย นอกจากนี้จะมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน คือทำให้คนเกิดอาการวิตกกังวลโดยที่ไม่รู้ตัว แต่อาจจะทำให้เกิดอาการทางร่างกาย"

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อ จากการตรวจสอบของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจสอบผู้เสียชีวิตพบว่า ไม่มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องจากวัคซีน โดยผู้เสียชีวิต 17 ราย หลังฉีดซิโนแวค พบว่าที่สามารถสรุปสาเหตุได้ชัดเจนและไม่ต้องขอข้อมูลอื่นได้เพิ่ม ส่วนหลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 3 ราย มีอีกส่วนหนึ่งที่ยังต้องหาหลักฐานเอกสารโดยการส่งตรวจเพิ่มเติม 4 ราย จากหลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งรายละเอียดการพิจารณากรณีเสียชีวิต 103 ราย พิจารณาแล้ว 42 ราย ไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นอาการเกิดร่วมโดยบังเอิญ เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ เลือดออกในสมอง ลิ่มเลือดอุดตันในปอด เลือดออกในช่องท้อง ความผิดปกติของเกล็ดเลือด ถือเป็นเหตุการณ์ร่วมที่ทำให้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ส่วนที่คณะผู้เชี่ยวชาญมีการขอข้อมูลเพิ่ม 18 ราย และรอผลการผ่าชันสูตรพลิกศพ 61 ราย ยืนยันว่าวัคซีนยังมีความปลอดภัย และขอเชิญชวนประชาชนที่อาจจะยังมีความกังวลใจ โดยจะเห็นว่าสถานการณ์โรคในขณะนี้มีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น หากใครยังไม่ตัดสินใจขอเชิญให้มาลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีน

ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส.ได้รับเบาะแสการโฆษณาเปิดจองวัคซีนโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์แห่งหนึ่ง โดยเว็บไซต์ดังกล่าวมีการกระทำในลักษณะนายหน้าเรียกเก็บเงินจากประชาชน เพื่อเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อโมเดอร์นา (Moderna) จากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลาที่นัดหมายกลับไม่สามารถรับบริการฉีดวัคซีนได้ จึงมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กรม สบส.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้รับบริการ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และสอบถามข้อเท็จจริงจากบุคลากรของโรงพยาบาลที่ถูกกล่าวอ้าง ซึ่งทางโรงพยาบาลให้การกับพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำดังกล่าว อีกทั้งข้อมูล ณ ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการนำวัคซีนยี่ห้อโมเดอร์นาเข้ามาภายในประเทศไทย จึงตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าเป็นการโฆษณาหลอกลวงประชาชน โดยผู้แทนของโรงพยาบาลได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว

ขณะที่ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสบส. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่หากประชาชนท่านใดต้องการรับบริการวัคซีนทางเลือก ก็ขอให้ติดต่อผ่านทางสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐโดยตรง ไม่ควรจองผ่านนายหน้า ด้วยการโฆษณาจองวัคซีนโควิด-19 ของนายหน้าเหล่านี้ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากภาครัฐ จึงอาจจะทำให้ถูกหลอกลวงเงินทอง หรือเกิดอันตรายจากบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน

นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ประชาชนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของรัฐ หรือวัคซีนที่โรงพยาบาลเอกชนจัดหามาให้บริการโดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หากเกิดความเสียหายขึ้น ประชาชนสามารถยื่นคำร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ซึ่งหากเข้าเกณฑ์ของ สปสช. ยืนยันว่าจะมีการจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นให้ทุกกรณี ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกที่ทางโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้จัดหา และมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับบริการนั้น หากเกิดความเสียหายขึ้นจะไม่ครอบคลุมตามเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของ สปสช. ดังนั้นผู้รับบริการต้องไปเรียกร้องกับทางโรงพยาบาลเอกชนแทน

ส่วนกรณีของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อพิจารณาจากประกาศราชวิทยาลัยฯ ที่ต้องการให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรีโดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชนนั้น หน่วยงานหรือองค์กรใดที่จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จากราชวิทยาลัยฯ ก็จะต้องฉีดให้กับผู้รับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากผู้รับบริการเกิดปัญหาจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 นั่นหมายความว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือจากทาง สปสช.ตามเกณฑ์ แต่ถ้ามีหน่วยงานใดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยฯ แล้วไปเรียกเก็บค่าใช้บริการ-ค่าใช้จ่ายจากประชาชน ตรงนี้ทาง สปสช.ก็จะไม่เกี่ยวข้อง ในส่วนของซิโนฟาร์มที่มีประกันค่าเสียหายราว 1 ล้านบาท ตรงนี้จะถือว่าเป็นคนละส่วนกันกับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของ สปสช.

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงาน อย.ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ของ Pfizer ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่นำเข้าโดย บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แล้ววันนี้ เป็นวัคซีนลำดับที่ 6 ของไทยที่ได้รับการอนุมัติ

ทั้งนี้ วัคซีนของไฟเซอร์เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่คิดค้นและพัฒนาโดยบริษัท ไฟเซอร์ ร่วมกับบริษัท ไบโอเอ็นเท็ค (BioNTech) ประเทศเยอรมนี ซึ่งแผนการฉีดประกอบด้วยการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21 วัน สำหรับผู้ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ วัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลก (WHO EUL) แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันศุกร์ที่ 25 มิ.ย. เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเปิดให้บริการเป็นวันแรกในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ สำหรับการฉีดวัคซีนพระราชทานในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และชุมชนโดยรอบ จำนวน 6,400 ราย เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมมายุ ครบ 64 พรรษา 4 กรกฎาคม 2564 โดย ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะให้การต้อนรับนายกฯ และคณะ
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รับวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มล็อตแรก 1 ล้านโดส จากประเทศจีน และดำเนินการส่งตรวจสอบคุณภาพโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนกระจายสู่โรงพยาบาลต่างๆ ที่รับฉีดให้กับองค์กรที่ได้รับจัดสรรวัคซีน เริ่มฉีดพร้อมกัน วันที่ 25 มิ.ย.

logoline