svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ฉลุยฉบับเดียว ร่างแก้ไขรธน.ของปชป. ส่วนของพลังประชารัฐ คว่ำไม่เป็นท่า โดนส.ว.เทกระจาด

25 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผ่านฉบับเดียว! "รัฐสภา" มีมติรับหลักการวาระแรก ร่างแก้รธน. รื้อระบบเลือกตั้ง ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนนเห็นชอบเห็นชอบ 552 เสียง ส.ส.342 ส.ว. 210 เพียง 1 ฉบับ จากทั้งหมด 13 ฉบับ ส.ว.โหวตคว่ำร่างพรรคพลังประชารัฐ

วานนี้ (24 มิ.ย.64) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับหลักการวาระแรกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา 13 ฉบับ ได้ลงมติแบบขานชื่อเรียงตามลำดับตัวอักษร ตั้งแต่เวลา 17.00 น. จนถึงเวลา 23.30 น. โดยใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง 30 นาที จนครบทุกคนและครบทั้ง 13 ฉบับ จากนั้นได้ใช้เวลานับคะแนนอีกประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ในที่สุดที่ประชุมมีผลมติรับหลักการวาระหนึ่งเพียง 1 ฉบับ คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ด้วยมติ 552 เสียง มี ส.ว.ร่วมเห็นชอบ 210 เสียง

ส่วนฉบับอื่นๆ เนื่องจากเสียง ส.ว. ไม่ถึง 84 เสียง ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดทำให้ต้องตกไป โดยเฉพาะฉบับปิดสวิตช์ ส.ว. และร่างรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีปัญหาเสนอแก้กลไกปราบโกงของรัฐธรรมนูญ โดยมีรายละเอียดผลคะแนนแต่ละฉบับดังนี้

1. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคพลังประชารัฐ แก้ไข 5 ประเด็น
-ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 334 เสียง เป็น ส.ส. 334 เสียง ส.ว. 0 เสียง ไม่เห็นชอบ 199 เสียง งดออกเสียง 173 เสียง ไม่ผ่านการรับหลักการ
2. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็นสิทธิและเสรีภาพ
- ที่ประชุมมีมติ รับหลักการ 399 เสียง ส.ส. 393 ส.ว. 6 เสียง ไม่เห็นชอบ 136 เสียง งดออกเสียง 171 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
3. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็นระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 376 เสียง ส.ส. 340 ส.ว. 36 เสียง ไม่เห็นชอบ 89 เสียง งดออกเสียง 241 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ

4. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็น ปิดสวิตช์ ส.ว.
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 455 เสียง ส.ส. 440 ส.ว. 15 เสียง ไม่เห็นชอบ 111 เสียง งดออกเสียง 150 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
5. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็นยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 327 เสียง ส.ส.326 ส.ว.1 เสียง ไม่เห็นชอบ 150 เสียง งดออกเสียง 229 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
6. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคภูมิใจไทย ประเด็นประแก้ยุทธศาสตร์ชาติ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 454 เสียง ส.ส.419 ส.ว.35 ไม่เห็นชอบ 86 เสียง งดออกเสียง 166 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
7. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคภูมิใจไทย ประเด็นหน้าที่ของรัฐแก้ปัญหาความยากจน
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 476 เสียง ส.ส.421 ส.ว.55 ไม่เห็นชอบ 78 เสียง งดออกเสียง152 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
8. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นสิทธิเสรีภาพ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 469 เสียง ส.ส. 421 ส.ว. 48 ไม่เห็นชอบ 75 เสียง งดออกเสียง 162 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ

9. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นสัดส่วนการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 415 เสียง ส.ส. 400 ส.ว. 15 ไม่เห็นชอบ 102 เสียง งดออกเสียง 189 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
10. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นการตรวจสอบ ป.ป.ช.
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ431 เสียง ส.ส.398 ส.ว. 33 ไม่เห็นชอบ97 เสียง งดออกเสียง 178 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
11. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรีและปิดสวิตช์ ส.ว.
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ461 เสียง ส.ส. 440 ส.ว.21 ไม่เห็นชอบ 96 เสียง งดออกเสียง 149 ไม่ผ่านรับหลักการ
12. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นกระจายอำนาจท้องถิ่น
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 457เสียง ส.ส.407 ส.ว.50 ไม่เห็นชอบ 82 เสียง งดออกเสียง 167 เสียง ไม่ผ่านรับหลักการ
13. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 552 เสียง ส.ส. 342 ส.ว.210 ไม่เห็นชอบ 24 เสียง งดออกเสียง 130 เสียง ผ่านรับหลักการ

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบครั้งนี้ เป็น 1 ใน 6 ฉบับที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ โดยเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไข มาตรา 83 และมาตรา 91 เกี่ยวกับจำนวน ส.ส. และระบบเลือกตั้ง ส.ส. มีสาระสำคัญ ดังนี้

-มาตรา 83 ให้ ส.ส.มีจำนวน 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ100 คน จากที่รัฐธรรมนูญปี2560 กำหนด ให้ ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน โดยเป็นการเพิ่มจำนวนเขตเลือกตั้ง และเป็นเลือกตั้งแยกระหว่างเลือกคนกับการเลือกพรรค แบบรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้ระบบบัตรใบเดียวเลือกตั้งเฉพาะ ส.ส.เขตเท่านั้น

-มาตรา 91 ยกเลิกวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของรัฐธรรมนูญ 2560 กลับไปใช้วิธีการคำนวณที่สอดคล้องกับรูปแบบบัตร 2ใบ กำหนดให้นำคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับทั่วประเทศ มาคำนวณเพื่อจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคมาคำนวณเพื่อจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค อย่างไรก็ตามระบบเลือกตั้งนี้ ถูกอภิปรายไม่เห็นด้วย ทั้งจากสมาชิกวุฒิสภา และส.ส.พรรคก้าวไกล ที่มองว่าจะเป็นการเพิ่มเขตเลือกตั้ง ทำให้สัดส่วนพื้นที่ถูกซอยให้มีขนาดเล็กลง เอื้อต่อระบบพรรคการเมืองใหญ่ที่มีอิทธิพล และอาจกระทบต่อพรรคการเมืองเล็กที่ไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศมาตลอดว่าร่วมเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ด้วยระบบที่อาจส่งผลต่อจำนวน ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ทำให้การลงมติวันนี้ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยส่วนใหญ่งดออกเสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมได้ตั้งกรรมาธิการจำนวน 45 คน ประกอบด้วย พรรคร่วมรัฐบาล 17 คน แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน และเศรษฐกิจใหม่ 1 คน ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้าน 13 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน และพรรคประชาชาติ 1คนกำหนดแปรญัตติ 15 วัน โดยประชุมนัดแรกในวันที่ 29 มิถุนายน หน้า จากนั้นได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 01.55 น. ของวันที่ 25 มิถุนายน 64

logoline