svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"กิริฎา" มองนโยบาย "ไบเดน" เป็นผลดีต่อส่งออกไทย

23 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผอ.วิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา TDRI มองนโยบาย "โจ ไบเดน" เป็นผลดีต่อส่งออกไทย เพราะเป็นนโยบายที่เน้นการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นให้เพิ่มการบริโภค

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการสำนักงาน วิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา TDRI กล่าวในการสัมมนา Nation TV Virtual Forum Thailand Survival Post Covid-19:ครั้งที่ 1 "สหรัฐเดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจ มองโอกาสการค้าไทยสหรัฐฯ" ระดมสมองทุกภาคส่วน เปิดมุมมอง พาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าหลังจากเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเด็น "จับจังหวะเศรษฐกิจสหรัฐ คืนแท่นมหาอำนาจ" ว่า
หลังวิกฤตโรคระบาดเศรษฐ กิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งในปีนี้ ทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐก็น่าจะดีขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว การเติบโตของการส่งออกของไทยไปสหรัฐ ในช่วงนี้ก็สูงกว่าช่วงก่อนระบาดของโควิด-19 เสียด้วยซ้ำ เนื่องจากในส่วนของนโยบายการเงินการคลัง สหรัฐเน้นการใช้จ่ายเยอะมาก โดยปีนี้น่าจะใช้เงินประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเน้นไปที่การอัดฉีดเงิน เพื่อให้ภาคครัวเรือนเพิ่มการบริโภค ขณะเดียวกันคนอเมริกันมีการออมเงินมากเป็นประวัติการณ์ เมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย ก็มีความต้องการใช้เงิน การส่งออกจึงควรเน้นไปที่การบริโภค
สินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐมากก็คือชิ้นส่วนยานยนต์ และสินค้าทางการแพทย์ อย่างเช่นถุงมือยาง รวมถึงฮาร์ดดิสต์ไดรฟ์ที่ไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่
สงครามการค้าของสหรัฐกับจีน ก็ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ เมื่อสหรัฐหันมาซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นแทนการซื้อจากจีน นักลงทุนเองย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย แต่ในระยะยาว ระบบนี้จะทำให้การค้าโลกไม่เติบโต และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ที่เป็นผลจากสงครามการค้า ก็จะส่งผลกระทบกับภาคการผลิตของไทยรวมถึงต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้น
และอีกประเด็นที่น่าจับตามอง ก็คือการอัดฉีดเงินของสหรัฐจะดำเนินไปทางไหนในปีหน้า และเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างต่อเนื่องหรือไม่ รวมถึงการกลับมาของโควิด-19
ขณะที่การได้ดุลการค้าสหรัฐมาก ๆ ก็อาจจะทำให้สหรัฐเพ่งเล็งไทยมากขึ้น อย่างนอกเหนือจากการตัดจีเอสพีไทยแล้ว ไทยก็อยู่ในบัญชีประเทศถูกจับตามองเรื่องการบิดเบือนค่าเงินของสหรัฐด้วย แต่สหรัฐจะดำเนินการอะไรกับไทยมากกว่านี้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของการเมือง
ด้านนายฉัตรชัย ทิศาดลดิลก ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจช่วงนี้ฟื้นตัวดีมาก โดยเฉพาะสหรัฐฯฟื้นตัวรวดเร็วมากในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ตลาดทุนก็พลอยฟื้นตัวได้ดีได้เร็ว จริงๆแล้ว ตลาดทุนฟื้นตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างมาก อัดฉีดเงินเข้าไป ทำให้มีสภาพคล่องเยอะมาก และลดอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก และในปีนี้ภาคเศรษฐกิจจริงเริ่มฟื้นตัวแล้ว และน่าจับตาว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินที่นำมาใช้ในช่วงที่ผ่านมา จะเริ่มมีการถอนคันเร่งเร็วช้าอย่างไรในช่วงปีนี้ถึงปีหน้า แต่แค่มีสัญญาณจากเฟดว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงทันที
นอกจากนี้นโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยเฉพาะในช่วง 100 วันแรก มีส่วนส่งผลดีต่อตลาดทุน โดยสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ก็ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังมีแผนส่งเสริมการเติบโตในระยะกลางและระยะยาว
นอกจากนี้สหรัฐฯยังกลับมาให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็เป็นแนวโน้มที่ดีและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลาดทุนก็สนใจเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืนและการดำเนินกิจการอย่างยั่งยืนมาระยะหนึ่งแล้ว และตลาดทุนไทยก็มีความโดดเด่นในเรื่องนี้ได้รับรางวัลทั้งในระดับสากลและระดับประเทศด้วย และในปีที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนของไทยเข้าไปติดอันดับใน Dow Jones Sustainability Index เยอะมาก
ส่วนประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็มีข่าวที่สหรัฐฯขู่ถอดบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการออกร่างกฎหมายเกี่ยวกับนวัตกรรมและการแข่งขัน ที่มุ่งเพิ่มการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีซึ่งที่จริงมีเนื้อหาเพื่อกีดกันจีนเรื่องสิทธิมนุษยชนและทรัพย์สินทางปัญญา ส่งผลให้ซัพพลายเชนของโลกแตกเป็นสองฝ่าย ส่วนประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการย้ายฐานการผลิต ก็ทำให้อาเซียนและไทยกลายเป็นจุดหมายที่น่าสนใจ แต่ถ้าการแข่งขันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็บีบให้มีการเลือกข้าง และมีต้นทุนของการไม่เลือกข้าง ทำให้หาสมดุลได้ยากขึ้น ก็จะเป็นความผันผวนในตลาดทุน
ส่วนสภาพตลาดทุนสหรัฐฯในครึ่งปีหลัง ก็ยังต้องจับตาเรื่องสาธารณสุข หากควบคุมโควิด-19 ได้ดี และเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวดี ธนาคารกลางก็จะพิจารณาสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยว่าจะถอนคันเร่งหรือไม่ ซึ่งเฟดก็สื่อสารว่า ไม่ได้รวดเร็วขนาดนั้น ทำให้ความผันผวนจะอยู่ในตลาดทุนไทยและตลาดทุนโลกไปสักระยะ จนกว่าจะเห็นความชัดเจนในปีหน้าหรือปีถัดไป หรือความชัดเจนจากเศรษฐกิจจีนว่าฟื้นตัวได้มั่นคงแค่ไหน
ส่วนเศรษฐกิจไทยก็มีปัจจัยคล้ายกัน คือ เรื่องสาธารณสุข ตามหมุดหมายของการเปิดภูเก็ตในเดือนหน้า และการเปิดประเทศใน 120 วัน และในสิ้นปีมีวัคซีน 100 ล้านโดส ก็น่าจับตา การออกจากปัญหาโควิด ถ้านาน ช้า แผลลึก ก็จะยาก แผลทางเศรษฐกิจ เช่น หนี้ต่างๆ ก็จะทำให้ฟื้นเร็วช้าต่างกันไป

หอการค้าไทยไม่ห่วงถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ห่วงค่าเงินบาทแข็งมากกว่า 
ด้าน ดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมแสดงความคิดเห็นว่าในยุคที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายในสหรัฐฯ เป็นโอกาสของผู้ส่งออกชาวไทยที่จะส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากคนอเมริกันมีความต้องการใช้สินค้าสูง ขณะที่กำลังการผลิตในสหรัฐฯ ยังไม่กลับมา จึงมีความต้องการนำเข้าสินค้ามากกว่าเดิม โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาด สุขอนามัย ของใช้ภายในบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มากอยู่แล้ว แต่นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ น้อยมาก ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังก็คือหากเรายังนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เข้าไทยน้อยมากๆ หากเทียบกับการส่งออก เราอาจจะถูกตัดสิทธิ GSP หรือสิทธิพิเศษเรื่องภาษีศุลกากรมากกว่าเดิม แต่ ดร. พจน์ ตั้งข้อสังเกตว่าเราไม่ควรเป็นกังวลกับเรื่องการถูกตัดสิทธิทาง GSP มากเกินไป เพราะกลุ่มสินค้าที่ต้องเสียภาษีเพิ่มส่วนมากเป็นกลุ่มบริษัทสหรัฐฯ ที่มาลงทุนผลิตในไทย ทำให้กลายเป็นบริษัทสหรัฐฯ นั่นเองที่ต้องแบกรับภาระที่มากขึ้น 
สิ่งสำคัญที่รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญเพื่อให้การส่งออกไทยมีความได้เปรียบคือการดูแลค่าเงินบาทให้มีความเสถียรและสมดุล หากทำให้ค่าเงินบาทลดลงได้ 1 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ จะช่วยประหยัดต้นทุนการส่งออกได้มากถึง 3% หากลดลงได้ 3 บาท ก็จะลดต้นทุนได้ถึง 9% ถ้าค่าเงินบาทไทยแข็งมาก ก็จะทำให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวลำบากขึ้น 
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของ โจ ไบเดน มีแนวโน้มว่านักลงทุนสหรัฐฯ จะออกมาลงทุนในต่างประเทศมากกว่าเดิม เนื่องจากมีการขึ้นภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่มีรายได้สูง ทำให้ไทยมีโอกาสได้เม็ดเงินจากนักลงทุนสหรัฐฯ มากขึ้น แต่ก็ต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ซึ่งหลายประเทศมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายการลงทุนให้มีความทันสมัย มีความสะดวกสำหรับชาวต่างชาติ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ แต่ ดร. พจน์ มองว่าการแก้ไขกฎหมายการลงทุนในไทยยังมีความล่าช้าอยู่มาก หากเทียบกับประเทศอื่น
ดร. พจน์ มองว่าต่อจากนี้ ทุกประเทศทั่วโลกจะมุ่งหน้าสู่การเปิดประเทศให้ได้โดยเร็วที่สุด แม้โควิดจะยังคงอยู่ คนทั่วโลกจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด โดยไทยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญหลายประเทศ นอกจากสหรัฐฯ คือญี่ปุ่นกับจีน ซึ่งการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าส่งออกของไทยทั้งหมด 13% การรักษาสมดุลการส่งออกให้กระจายไปหลายๆ ประเทศ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตได้สม่ำเสมอ เราจึงไม่ควรกังวลกับเรื่องส่งออกไปสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว 

logoline