svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ภราดร"ย้ำภูมิใจไทยเสนอแก้รธน.เพื่อประชาชน

23 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ภราดร" ขอเป็นไม้ขีดไฟให้ประชาชนเข้าถึงหลักประกันรายได้ จี้รัฐดูแลคนจน ย้ำแก้ยุทธศาสตร์ชาติ ชี้ระบบเลือกตั้ง ผู้เล่นไม่ควรเขียนกติกาเอง ยันหมดเวลาส.ว.เลือกนายกฯแล้ว

ที่รัฐสภา นายภราดร ปริศนานันทกุล  ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า จุดยืนของพรรคภูมิใจไทยต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คือเราตั้งใจแก้ไขเพื่อตอบโจทย์ของประชาชนให้มากที่สุด และไม่ปฏิเสธว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่มีการพูดคุยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรามักได้ยินเสียงถามมาว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไข พวกเราจึงตั้งใจที่จะตอบโจทย์ประชาชน พยายามออกแบบรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนมากที่สุด 
โดยร่างรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันลงชื่อ ซึ่งหลักคิดและแนวคิดคือทำเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและคำถามประชาชนได้อย่างไรว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร เราเสนอร่างที่ 1 โดยแก้ไขหมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐเพิ่มมาตรา 55/1 หลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ให้ประชาชน เพื่อสามารถดำรงชีวิตได้ในทุกสภาพสังคม ใครก็ตามที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนคนนั้นคือคนจน โดยสภาพัฒน์ฯได้ขีดเส้นไว้ 2,700 บาทต่อเดือนสำหรับคนต่างจังหวัด ส่วนคนกทม.อยู่ที่ 3,200 กว่าบาทเป็นรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน หรือเฉลี่ยทั้งหมดที่ 36,000 บาทต่อปีต่อคน ที่รัฐต้องสนับสนุนคนเหล่านี้ให้มีรายได้เพียงพอ ที่ตอนนี้มีประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่ารัฐสามารถจัดการรายได้พื้นฐานให้กับพวกเขาเหล่านั้นได้ 
มีคนถามว่าจะเป็นภาระของรัฐมากไปหรือไม่ เพื่อหารายได้มาสนับสนุนคนเหล่านี้ มันอยู่ที่ความเชื่อ โจทย์อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ทำได้ หากเราคิดแต่ว่าทำไม่ได้ เราก็ไม่เริ่มทำเสียที เพราะเมื่อปี 44 ก็ไม่มีใครคิดว่าหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคจะเกิดขึ้นได้ พรรคภูมิใจไทยเชื่อว่าหากเราบรรจุเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นหน้าที่ของรัฐทำให้ประชาชนใต้เส้นความยากจนมีรายได้พื้นฐานเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ตนเชื่อว่ารัฐสามารถหาเงินมาตอบโจทย์ได้ จึงขอให้สมาชิกรัฐสภาช่วยกันสนับสนุน
นายภราดร กล่าวต่อว่า  ส่วนการแก้ไขมาตรา 65 ในยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนมากขึ้น ประเทศจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติ แต่ที่เรามีเขียนกว้างเกินไป  ต้องถามประชาชนว่าอยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างไร เราจึงต้องมาร่วมกันคิด การวางยุทธศาสาตร์ชาติต้องวางรอบด้านไม่ใช่เฉพาะด้านความมั่นคง จึงขอให้เพื่อสมาชิกรับหลักการและไปพิจารณาร่วมกันอีกครั้งในชั้นกรรมาธิการต่อไป 
ส่วนประเด็นเสนอให้แก้ไขมาตรา 272 นั้น การจะแสวงหาความร่วมมือร่วมมือโดยเฉพาะฝั่งวุฒิสมาชิกจะมาเห็นด้วยโหวตร่างนี้ คือเป็นไปไม่ได้ที่เราจะชักชวนด้วยการข่มขู่ เสียดสี หรือด่าทอที่จะนำมาซึ่งความพินาศและความไม่สำเร็จในการเดินสู่เป้าหมาย แต่เราต้องมาคุยกันด้วยเหตุผล ในตัวบทรัฐธรรมนูญปี 60 ที่เป็นเรื่องหน้าที่และอำนาจบาทบาทส.ว. นั้นบทหลักไม่มีที่จะให้ส.ว.เลือกนายกฯ หมายความว่าเจตนารมณ์ได้ตั้งใจให้ส.ว.เข้ามากำหนดตัวนายกฯตลอดกาล หรือตลอดช่วงอายุรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งกำหนดบทเฉพาะกาล 5ปีเท่านั้น 
ประเด็นหารือวันนี้ที่ผ่านมา 2 ปีเกือบ 3 ปี เพียงพอหรือยังกับการเปลี่ยนผ่าน และบทเฉพาะกาลที่ว่า หากถามตนก็ตอบว่าเพียงพอแล้ว และเชื่อว่าหากถามประชาชนก็คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเพียงพอแล้ว แต่ไม่ทราบว่าถามส.ว.แล้วไม่แน่ใจกับคำตอบ พรุ่งนี้ (24 มิ.ย.) จะมีคำตอบร่วมกันว่าเกือบ 3ปีเพียงพอหรือยังกับอำนาจพิเศษมาตรา 272  
ขณะที่ความคิดเห็นเรื่องกติกาการเลือกตั้ง หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกติกาว่าเป็นแบบไหน หัวใจสำคัญอยู่ที่เราในฐานะผู้เล่นมีความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหนที่จะมาเขียนกติกาให้ตัวเองเล่น ตนจึงเห็นว่าเราในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงไม่สมควรมาพิจารณา เพื่อเขียนกติกาให้ตัวเองลงไปเล่น กติกาควรเขียนโดยกรรมการคือประชาชน ที่เลือกกติกาให้พวกเราเล่น 
อย่างไรก็ตามใน 13 ร่างหากเป็นผลประโยชน์ประชาชนโดยตรงเราพร้อมสนับสนุน หากร่างใดแก้ไขแล้วถูกครหาว่านักกาเรมืองหรือพรรคกาเรมืองแก้ไขเพื่อประโยชน์ตนเอง ตนขออนุญาตไม่ขอร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้โจทย์ของพรรคภูมิใจไทยคือเราต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่าแก้ไขแล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไร ไม่ใช่แก้ไขแล้วพรรคภูมิใจไทยได้ประโยชน์อะไร จึงเป็นที่มาของการเสนอรัฐธรรมนูญกินได้ พวกเราขอเป็นไม้ขีดไฟให้ประชาชนเข้าถึงหลักประกันรายได้ที่เขาควรมี

logoline