svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ประชามติ นับหนึ่งรัฐฟังเสียงประชาชน

23 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาโหวตผ่านวาระ 2-3 ไปเมื่อวานนี้ .

การประชุมเมื่อวาน เป็นการพิจารณาเนื้อหาในรายมาตรา ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มีนาคม หลังเกิดกระแสฮือฮา คณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ชนะโหวตมาตรา 9 ซึ่งเดิมกำหนดให้ทำประชามติได้ 3 กรณี เพิ่มเป็น 5 กรณี ซึ่งที่ผ่านมาจะมีนานๆ ครั้งที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยเอาชนะไปได้ในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมาย
ประเด็นที่เพิ่มขึ้นมา คือช่องทางในการเสนอทำประชามติ จากเดิมที่กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร และเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง โดยเพิ่มช่องทางใหม่ขึ้นมาอีก 2 ช่องทาง คือ 

  • การออกเสียงประชามติในกรณีที่ "รัฐสภา" ได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควร และได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ
  • การออกเสียงประชามติในกรณีที่ "ประชาชน" เข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
  • ประเด็นที่เพิ่มขึ้นมาไปขัดหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรามนูญว่าอำนาจในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ต้องเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายบริหารเท่านั้น เมื่อมีการเพิ่มช่องทางของรัฐสภา และประชาชนเข้าชื่อกันได้ อาจทำให้ร่างกฎหมายประชามติขัดรัฐธรรมนูญ 
    เหตุนี้เองจึงต้องมีการปรับแก้เนื้อหามาตราที่เกี่ยวข้อง ตามการเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเฉพาะมาตรา 10 กับ 11 เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ และสามารถเดินหน้าพิจารณากฎหมายต่อไปได้จนถึงมาตรา 53 และหยุดชะงักไป เนื่องจากองค์ประชุมส่อแววล่ม เพราะสมาชิกรัฐสภาลาประชุมจำนวนมาก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงต้นเดือนเมษายน 
    กระทั่งมีการเปิดสมัยประชุมสภาอีกครั้ง และหยิบร่างกฎหมายมาพิจารณาต่อเมื่อวาน ตั้งแต่มาตรา 54 ถึง มาตรา 67 รวม 14 มาตรา และลงมติวาระ 3 ด้วยคะแนนเสียง 611 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง หลังจากนี้จะเป็นกระบวนการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย 
    สำหรับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มีทั้งสิ้น 67 มาตรา มีสาระสำคัญ คือ
  • ให้อำนาจประชาชนเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ ยื่นเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาออกเสียงประชามติในเรื่องต่างๆ ได้ เช่นเดียวกับรัฐสภาที่สามารถพิจารณาและมีมติแจ้งให้คณะรัฐมนตรี จัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องที่เห็นสมควรได้เช่นกัน แต่อำนาจในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังอยู่ที่คณะรัฐมนตรี  
  • จากการเพิ่มช่องทางการเสนอทำประชามติดังกล่าว ทำให้การออกเสียงประชามติสามารถทำได้ใน 5 กรณีด้วยกัน คือ 1.ประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร 3.เมื่อกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียงประชา มติในเรื่องนั้น 4.เรื่องที่รัฐสภามีมติเห็นว่ามีเหตุอันสมควร และ 5.ประชาชนเข้าชื่อกัน 50,000 ชื่อ เสนอคณะรัฐมนตรี 
  • กำหนดให้ใช้เขตจังหวัด เป็นเขตออกเสียงประชามติ 
  • เปิดทางให้ใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักรได้เป็นครั้งแรก โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิออกเสียง ณ ประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่
  • เพิ่มวิธีการออกเสียงประชามติ นอกจากการกาบัตรในคูหาเหมือนการเลือกตั้งแล้ว ให้สามารถออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์  หรือออกเสียงผ่านระบบออนไลน์ได้ในอนาคต 
  • การผ่านประชามติ ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง
  • กำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันออกเสียง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงไม่น้อยกว่า 90 วัน
  • ประชาชน พรรคการเมือง และกลุ่มต่างๆในสังคมสามารถรณรงค์การออกเสียงประชามติได้อย่างเสรี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต.กำหนด 
  • กรณีออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้คณะรัฐมนตรีกำหนดวันออกเสียงภายใน 120 วัน
  • ที่เหลือเป็นบทกำหนดโทษกรณีมีการกระทำความผิดต่าๆง เกิดขึ้น อาทิ 
  • ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนเป็นเหตุให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี 
  • ผู้ใดทำลายบัตรออกเสียง หรือจงใจทำให้เป็นบัตรเสีย คเอวระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 20,000 บาท หากเจ้าพนักงานทำเสียเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 200,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10ปี
  • ผู้ใดทำลายเครื่องลงคะแนน หรืออุปกรณ์ในการออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หากเจ้าพนักงานทำเสียเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 200,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
  • ผู้ใดกระทำการทุจริต อาทิ ใช้บัตรปลอมลงคะแนน นำบัตรออกเสียงออกจากสถานที่ออกเสียง แจ้งข้อมูลการออกเสียงต่อผู้อื่น หรือออกเสียงแทนผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน  5  ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
  • ผู้ใดก่อความวุ่นวาย หรือกระทำการอันเป็นการรบกวนในการออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
  • ผู้ใดเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ เล่นการพนัน ซื้อหรือขายเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
  • ห้ามขนคนไปออกเสียงประชามติ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่ไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเหมือนในอดีต
  • กรณีกรรมการประจำหน่วยจงใจนับบัตร หรือรวมเอาคะแนนออกเสียงประชามติผิดไปจากความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
  • ผู้ใดกระทำความผิดตามกฎหมายนี้นอกราชอาณาจักร ต้องรับโทษในราชอาณาจักรด้วย
  • logoline