svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ดร.บัญชา" อธิบายคำศัพท์ดาวตกชนิดระเบิด-สะเก็ดดาวจากฟากฟ้า

23 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ เขียนอธิบายคำศัพท์ และความหมายวัตถุที่ตกร่วงลงมาจากห้วงอวกาศ ทั้งดาวตกชนิดระเบิด ที่เพิ่งเป็นข่าวคึกโครม หรือบรรดาสะเก็ดดาว และลูกไฟ

จากปรากฎการณ์ "ดาวตกชนิดระเบิด" (bolide) ที่โผล่เหนือท้องฟ้า จ.เชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อวานนี้ (22 มิ.ย.) จนหลายคนมีคำถามว่า วัตถุแปลกปลอมที่ร่วงหล่นมาจากฟากฟ้ามีอะไรบ้าง

ซึ่งทาง ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ โพสต์ผ่านเพจกลุ่ม "ชมรมคนรักมวลเมฆ" เป็นการเขียนอธิบาย 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Fireball และ Bolide

1.คำว่า "สะเก็ดดาว" (meteoroid) ใช้เรียกวัตถุในอวกาศ ซึ่งอาจเป็นชิ้นส่วนของดาวหาง (comet) หรือดาวเคราะห์น้อย (asteroid) ขนาดของสะเก็ดดาวตั้งแต่ราว 10 ไมโครเมตร ไปจนถึงราว 1 เมตร

2.หากสะเก็ดดาว (ในข้อ 1) เคลื่อนที่เข้ามาในบรรยากาศของโลก จะเกิดการเสียดสีกับอากาศ เกิดแสงสว่างเรียกว่า "ดาวตก" หรือผีพุ่งไต้ (meteor, shooting star หรือ falling star)

3.ดาวตก (ในข้อ 2) ที่สว่างมากกว่าโชติมาตร -3 จะสว่างมากจนสามารถมองเห็นได้ในพื้นที่กว้าง และเรียกว่า "ลูกไฟ" (fireball) อาจนิยามว่า ถ้าดาวตกสว่างกว่าดาวศุกร์ เรียกว่า "ลูกไฟ" ก็ได้ [ดูคำอธิบายเกี่ยวกับโชติมาตรโดยย่อในข้อ 4]

4.คำว่า "โชติมาตร" หรืออันดับความสว่าง (magnitude) เป็นตัวเลขที่ใช้วัดความสว่างของวัตถุบนท้องฟ้า
มีข้อสังเกตว่าตัวเลขยิ่งน้อย ยิ่งสว่างมาก เช่น ดาวเหนือ (+2.1) ดาววีก้า (+0.14) ดาวโจร หรือซิริอุส (-1.46) ดาวศุกร์ (-4.6) ดวงจันทร์ (-12.4) และดวงอาทิตย์ (-26.7)

5.การที่เราเห็นลูกไฟได้ในเวลากลางวัน แสดงว่าลูกไฟนั้นต้องมีความสว่างอย่างน้อย -6 (และยิ่งถ้าปรากฏอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากเท่าไร ก็ต้องยิ่งสว่างมาก กล่าวคือ ค่าตัวเลขโชติมาตรน้อยกว่า -6 มาก)

6.หากลูกไฟ (ในข้อ 3) ระเบิดขึ้นในบรรยากาศของโลก ในทางเทคนิคจะเรียกว่า ดาวตกชนิดระเบิด (bolide)
หมายเหตุ : อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน คำว่า fireball (ลูกไฟ) และ bolide (ดาวตกชนิดระเบิด) มักจะใช้แทนกันได้

7.หากชิ้นส่วนของสะเก็ดดาวตกลงบนพื้นโลก ก็จะเรียกว่า อุกกาบาต หรือ อุกลาบาต (meteorite)

8.ลูกไฟอาจฝากรอยทางไว้บนท้องฟ้าได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ 8.1 รอยดาวตก หรือ เส้นเทรน (train) คือ แนวสว่างที่เกิดจากโมเลกุลของอากาศถูกกระตุ้น (excited) และไอออไนซ์ (ionized) แนวเส้นเทรนนี้ส่วนใหญ่จะคงตัวอยู่ไม่กี่วินาที แต่นานๆ ครั้งอาจคงตัวอยู่นานหลายนาทีก็เคยพบ แนวเส้นเทรนมักเกิดที่ระดับความสูงเกิน 80 กิโลเมตร 8.2 เส้นควัน หรือ แนวเส้นควัน (smoke trail) คือ กลุ่มผงอนุภาคขนาดเล็กที่เกิดจากการเสียดสีระหว่างสะเก็ดดาวกับอากาศ เส้นควันมักจะเกิดขึ้นที่ความสูงต่ำกว่า 80 กิโลเมตร และมักจะพบร่วมกับลูกไฟที่ปรากฏในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน

9.ขณะลูกไฟสว่างวาบมากที่สุด พบว่ามีความสูงในช่วง 19.1 ถึง 61.1 กิโลเมตร [จากข้อมูล Fireball and Bolide Reports ของ Near Earth Object Program เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 ตัวเลขต่ำสุดและสูงสุดอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีข้อมูลใหม่]

10. ขณะลูกไฟสว่างวาบมากที่สุด พบว่ามีอัตราเร็วในช่วง 12.4 ถึง 32.1 กิโลเมตร/วินาที [จากข้อมูล Fireball and Bolide Reports ของ Near Earth Object Program เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 ตัวเลขต่ำสุดและสูงสุดอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีข้อมูลใหม่]

หมายเหตุ: อัตราเร็ว 32.1 กิโลเมตร/วินาที = 115,560 กิโลเมตร/ชั่วโมง!

"ดร.บัญชา" อธิบายคำศัพท์ดาวตกชนิดระเบิด-สะเก็ดดาวจากฟากฟ้า

"ดร.บัญชา" อธิบายคำศัพท์ดาวตกชนิดระเบิด-สะเก็ดดาวจากฟากฟ้า

"ดร.บัญชา" อธิบายคำศัพท์ดาวตกชนิดระเบิด-สะเก็ดดาวจากฟากฟ้า

logoline