svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

แบงก์รัฐทยอยขานรับลดดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน ช่วยโควิด

23 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถาบันการเงินของรัฐ เริ่มทยอยขานรับลดดอกเบี้ยเหลือ 0-0.01 % นาน 6 เดือน หลังกระทรวงการคลัง สั่งพิจารณาเพื่อช่วยลูกหนี้และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มอบนโยบายให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนคนไทยระยะสั้น ภายใน 6 เดือน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิดนั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังได้เรียกสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาหารือในเรื่องดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 21มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีการพิจารณาช่วยประชาชนในเรื่องลดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น 0-0.01% จนถึงช่วงปลายปีนี้ เพื่อดูแลในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ร้านอาหารการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยสั่งให้แบงก์รัฐแต่ละแห่งกลับไปเตรียมแนวทางช่วยเหลือว่าจะสามารถทำได้มากน้อยเพียงใดแล้วส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงการคลังภายในสัปดาห์นี้


โดยที่ผ่านมาแบงก์รัฐดำเนินโยบายในการช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้แบงก์หนึ่งส่งเรื่องกลับมาให้คลังแล้วโดยเสนอช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้วยการลดดอกเบี้ยลงเหลือ 0.01% จนถึงปลายปีนี้แต่ทั้งนี้จะต้องดูตามคุณภาพของลูกหนี้ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้วยรวมถึงลดดอกเบี้ยให้ทั้งผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล รวมทั้งบุคคลธรรมดาด้วย โดยการลดดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ต้องของบประมาณชดเชยจากรัฐบาล ซึ่งหากได้ข้อสรุปแล้วแบงก์รัฐสามารถดำเนินการได้ทันที


สำหรับการดำเนินงานช่วยประชาชนที่ผ่านมาของแบงก์รัฐทุกแห่ง มีนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่รอบแรกแล้ว ทั้งเรื่องการเลื่อนชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย ซึ่งการออกมาตรการหลายๆอย่างของแบงก์รัฐนั้น ไม่ได้ไปขอใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็ยังคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าพ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่ธปท. กำหนดไว้ ซึ่งแบงก์รัฐใช้งบประมาณจากของหน่วยงานตัวเอง โดยเชื่อว่าหากแบงก์รัฐออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าดังกล่าวเพิ่มเติมจะไม่กระทบกับสถานะการเงินของแบงก์รัฐ โดยที่ผ่านมาแบงก์รัฐมีการตั้งสำรองเกินเกณฑ์ที่ธปท.กำหนดไว้ 8.5% สูงกว่า 10% ดังนั้นสถานะแบงก์ยังคงแข็งแกร่งและมั่นคง


ส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมาของแบงก์รัฐในการให้สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดซึ่งวงเงินดังกล่าว ประชาชนอาจจะได้รับความช่วยเหลือไม่เพียงพอนั้น ที่ผ่านมามีมาตรการต่างๆของรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือประชาชนควบคู่ไปด้วย เช่น โครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน นอกจากนี้ยังมีโครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ซึ่งจะสามารถเริ่มใช้จ่ายได้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้


นอกจากนี้ในส่วนของกระทรวงการคลังเอง ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ โดยลดอัตราดอกเบี้ยให้ในส่วนพิโกไฟแนนซ์ พลัส เหลือ 28% จากเดิม 36% และในส่วนของนาโนไฟแนนซ์หรือสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพภายใต้กำกับ ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 28%เช่นเดียวกัน เพื่อลดภาระประชาชนในช่วงที่โควิดแพร่ระบาดนี้


ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติมตามข้อเสนอของเอกชน โดยขอใช้งบประมาณจากพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องพิจารณาร่วมกับทีมนโยบายอีกครั้ง รวมทั้งข้อเสนอในการเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง จากเดิม 3,000 บาท เพิ่มเป็น 6,000 บาทด้วย ซึ่งจะต้องมีการหารือในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง และยังมีอีกหลายๆด้านที่จะต้องพิจารณา

logoline