svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

พระสงฆ์เมียนมาสละผ้าเหลือง จับอาวุธสู้กองทัพ

18 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พระสงฆ์เมียนมารูปหนึ่งสละผ้าเหลือง จับอาวุธเคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่มต่อต้านเผด็จการทหารอย่างเต็มตัว โดยให้เหตุผลว่า ไม่ใช่เพื่อฆ่า แต่เรียนรู้ที่จะฆ่า

"เกตารา" อดีตพระสงฆ์ที่สลัดจีวรหันมาสวมเครื่องแบบลายพรางเพื่อฝึกอาวุธต่อสู้กับเผด็จการทหาร ภายใต้ชื่อใหม่ว่า "จอร์จ ไมเคิล" โดยยอมละทิ้งคำสัตย์ปฏิญาณที่จะต่อต้าน "การฆ่า" เพื่อตอบโต้การจับกุมและสังหารพระสงฆ์ที่เข้าร่วมการประท้วงอย่างสันติต่อต้านกองทัพที่ทำรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 
เกตารา วัย 33 ปี เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ตั้งแต่อายุ 20 ปี นอกจากปฏิบัติศาสนากิจ ที่วัดธรรมดาร์นา เขตไลง์ตายา ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญของย่างกุ้งแล้ว ก็ยังทำงานด้านมนุษยธรรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะการดูแลเด็กกำพร้า ในช่วงแรกๆ ของการรัฐประหาร เกตาราได้เข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงโดยสันติที่เริ่มเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ และต่อเนื่องทุกวัน จนกระทั่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่กองกำลังรักษาความมั่นคงเริ่มการกวาดล้างผู้ประท้วงอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 60 คน มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้ประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งแรงงานตามโรงงานต่างๆ พากันหนีออกจากพื้นที่ เกตาราบอกว่า ในวันนั้น ไม่ได้เข้าร่วมประท้วงเพราะถูกออกหมายจับ และในช่วงที่ซ่อนตัวอยู่ ก็ได้ข่าวมารดาเสียชีวิต แต่ไปร่วมพิธีศพไม่ได้ 
เขาบอกว่า หลังจากนั้นก็ได้ยินข่าวผู้ประท้วงถูกฆ่าเรื่อยมา ทำให้ตัดสินใจเข้าไปฝึกอาวุธกับกองกำลังติดอาวุธ "ในพื้นที่ปลดแอก" (Liberated area) ที่เป็นคำเรียกทั่วไปที่ใช้กันในเมียนมา เมื่อเวลาเอ่ยถึงอาณาเขตที่ไม่ถูกปกครองโดยเผด็จการทหาร รวมถึงพื้นที่ชาติพันธุ์ที่ควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธตามแนวชายแดนของไทย อินเดีย และจีน ซึ่ง เกตารา บอกว่า เราต้องละเว้นจากการฆ่าตอนที่เป็นพระ แต่ตอนนี้ เราฝึกอาวุธเพื่อฆ่า
ตอนแรก กลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ปลดแอกไม่ยอมฝึกอาวุธให้ เพราะเห็นว่า เกตาราเป็นพระที่บวชเรียนมานานถึง 13 ปี แต่ในที่สุดก็ยอมจำนน และเกตาราไม่เปิดเผยสถานที่ฝึกเพราะเกรงจะเป็นอันตรายต่อคนอื่น และตอนนี้การฝึกได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และเขายังมีตำแหน่งในกองกำลังอีกด้วย แต่เขาก็วิงวอนให้พระสงฆ์รูปอื่นๆ อยู่ในผ้าเหลืองต่อไป เพราะยังทางอื่นให้เลือกแม้จะอยู่ในผ้าเหลือง 
มูลนิธิธรรมดาร์นา ระบุว่า มีพระสงฆ์ถูกจับอย่างน้อย 18 รูป ฐานเข้าร่วมประท้วง ส่วนสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่า มีคนถูกสังหารมากกว่า 860 คน และยังถูกจองจำในเรือนจำอีกราว 4,480 คน 

logoline