svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดดูกันชัดๆ ข้อกฎหมายล่อซื้อน้ำส้มขวด ทำได้จริงไหม-ผู้ค้าควรทำยังไง

16 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนคำสั่ง อย.เคยมีมาตรการทางกฎหมาย เรื่องค้าขายน้ำผลไม้บรรจุขวด ทั้งตรวจสอบแหล่งผลิต และผลิตภัณฑ์ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ ด้าน "ทนายเกิดผล" ระบุล่อซื้อน้ำส้ม ถ้าแม่ค้าถูกหลอกให้ทำผิด อาจเข้าข่ายแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบ

เป็นที่ถกเถียงอย่างมาก สำหรับกรณีกลุ่มบุคคลอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ล่อซื้อน้ำส้ม 500 ขวด จากผู้ค้าท่านหนึ่ง เมื่อถึงวันนัดหมาย กลับขอดูใบอนุญาต ทั้งที่ไม่ใช่โรงงานผลิต และเรียกเก็บเงิน 12,000 บาท จนกลายเป็นกระแสร้อนแรงบนโซเชียล

แม้ล่าสุดทางกรมสรรพสามิต จะชี้แจงว่า ไม่ใช่การจับกุม แต่เป็นการแนะนำให้ผู้ค้าท่านนั้น ที่ผลิตเครื่องดื่มไม่ได้มาตรฐาน และไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต เข้ามาอยู่ในระบบ และไม่ได้เรียกเงิน 12,000 บาท

แต่เหมือนชาวโซเชียลยังคาใจ การล่อซื้อน้ำส้มแบบนี้ ทำได้จริงเหรอ?

ซึ่งทีมข่าวได้ตรวจสอบข้อกฎหมาย ไล่เรียงปัญหาเรื่องน้ำผลไม้บรรจุขวด ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายปี หวังให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ค้า

ก่อนหน้านี้ ทาง อย.เคยออกข้อปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมาย เพื่อดูแลเรื่องน้ำผลไม้บรรจุขวด ที่จะดูตั้งแต่สถานที่ผลิต ถือเป็นโรงงานผลิตอาหารหรือไม่ โดย พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 นิยามคำว่า "โรงงาน" ว่า อาคาร หรือยานพาหนะ ที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวม 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้งานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป เมื่อเข้าข่ายโรงงานต้องยื่นขอจัดตั้งโรงงานผลิตอาหาร (แบบ อ.1)

แต่ถ้าสถานที่ผลิต ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานผลิตอาหาร ต้องยื่นขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหาร ที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (แบบ สบ.1) แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์กระทรวงสาธารณสุข หากตรวจพบการผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร ฐานผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการจำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค เช่น รถเข็น หาบเร่ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับเลขผลิตอาหาร แต่ต้องขออนุญาตเปิดร้านจำหน่ายจากท้องที่ และปฏิบัติตามสุขลักษณะ นอกจากนั้นเป็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และการแสดงฉลาก ซึ่งต้องมีเลข 13 หลัก ที่ได้รับอนุญาตจาก อย.ด้วย

กรณีล่อซื้อนั้น สำนักงานอัยการสูงสุด เคยมีหนังสือเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2557 เรื่องแนวทางพิจารณาข้อแตกต่างระหว่างการล่อซื้อ และการล่อให้กระทำความผิด สรุปได้ว่า ถ้าจำเลยกระทำผิดอยู่ก่อน แล้วมีการล่อซื้อ ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าจำเลยไม่ได้กระทำผิดเป็นปกติ หรือถูกจ้างวานให้ทำผิด ด้วยการล่อซื้อ ถือว่าไม่ชอบทางกฎหมายขณะที่นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง แสดงความเห็นว่า เรื่องการทำน้ำผลไม้ ครม.เคยมีมติให้ชำระภาษีสรรพสามิตเกี่ยวกับน้ำผลไม้-น้ำผัก ในอัตราร้อยละ 3 เว้นแต่ผู้ผลิตจะขออนุญาต หรือขอยกเว้นอัตราภาษี แต่ต้องทำตามเงื่อนไข ฉะนั้นเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตสามารถเข้าไปตรวจ และล่อซื้อได้ แต่ผู้ค้าท่านนั้นต้องมีพฤติกรรมผลิตผิดกฎหมายสรรพสามิตอยู่แล้ว

"แต่ถ้าผู้ค้าไม่เคยมีพฤติกรรมเหล่านั้นเลย หรือขายเพียงเล็กน้อย แต่เจ้าหน้าที่หลอกให้ทำผิด (ล่อซื้อ) จนแม่ค้าหลงเชื่อ ถือเป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบ"

logoline