svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

กู้ชีพ "คริสเตียน อีริคเซ่น" บทเรียนจากความสูญเสียครั้งอดีต

15 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำเอาคอลูกหนังทั่วโลกช็อกไปตามๆ กัน หลังจากที่ "คริสเตียน อิริคเซ่น" วูบหมดสติกลางสนามในศึกยูโร 2020 โชคดีที่ทุกฝ่ายช่วยกันกู้ชีพได้ทันท่วงที แต่หากมองลึกๆแล้ว จริงๆแล้วอาจไม่ใช่เพราะโชค แต่เป็นเพราะการเรียนรู้จากบทเรียนครั้งอดีต

       สิ่งแรกที่ต้องชื่นชมจากเหตุการณ์นี้ก็คือบรรดาเพื่อนร่วมทีมชาติเดนมาร์กที่ช่วยกันปฐมพยาบาล พร้อมยืนล้อมรอบทีมแพทย์เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของ 'อิริคเซ่น' ไม่ให้มีภาพที่สะเทือนใจเผยแพร่ออกไปแม้พวกเขาเหล่านั้นก็กำลังช็อกอยู่เช่นกัน รวมถึงการพยายามควบคุมสถานการณ์ ไม่ตื่นตระหนกในสถานการณ์คับขันที่เกิดขึ้นตรงหน้า คอยปลอบโยนคนในครอบครัวของจอมทัพรายนี้ที่ต้องเห็นภาพสุดสะเทือนใจพร้อมๆกับคนนับล้านทั่วโลกที่ชมการถ่ายทอดสดอยู่ทางบ้าน

กู้ชีพ "คริสเตียน อีริคเซ่น" บทเรียนจากความสูญเสียครั้งอดีต


เปิดนโยบาย CPR เดนมาร์ก: เพราะการกู้ชีพเป็นเรื่องใกล้ตัว


       การเข้าไปช่วยเพื่อนได้อย่างทันท่วงทีของพลพรรคโคนมในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของเดนมาร์กในการให้ความรู้เรื่องการทำ CPR หรือการปั๊มหัวใจกู้ชีพให้แก่ประชาชน โดยเดนมาร์กเริ่มดำเนินนโยบายระดับชาติเพื่อให้ความรู้ในการทำ CPR นอกโรงพยาบาลกับประชาชนตั้งแต่ปี 2005 มีการกระจายเอกสารแนะนำวิธีการทำ CPR กับประชาชนกว่า 150,000 ชุด, เด็กๆ เริ่มเรียนรู้เรื่องการทำ CPR ตั้งแต่เรียนชั้นประถม และมีการบรรจุหลักสูตรการทำ CPR สำหรับผู้ที่จะสอบใบขับขี่

       จากนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้ลดการสูญเสียได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2013 มีผลการศึกษาว่า ผู้ที่เกิดอาการหัวใจวายในเดนมาร์กมีโอกาสที่จะรอดชีวิตมากขึ้นถึง 3 เท่า เทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนจะมีกฏหมายนี้

       นอกจากจะเป็นความสำเร็จของชาวเดนมาร์กแล้ว "ฟีฟ่า" ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับดูแลวงการฟุตบอลก็ถือว่าเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ได้ดีเช่นกัน เพราะพวกเขามีบทเรียนล้ำค่ามาแล้วเมื่อหลายปีก่อน กับการจากไปของ "มาร์ค วิเวียง โฟเอ้" ดาวเตะทีมชาติแคเมอรูน ที่ทำให้วงการลูกหนังเริ่มให้ความสำคัญกับ "การกู้ชีพ"

กู้ชีพ "คริสเตียน อีริคเซ่น" บทเรียนจากความสูญเสียครั้งอดีต



"มาร์ค วิเวียง โฟเอ้" หนึ่งชีวิตช่วยหลายชีวิต


       สำหรับเหตุการณ์นักฟุตบอลวูบคาสนาม แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยๆ แต่ที่คอลูกหนังจำได้ติดตาจนถึงทุกวันนี้ คือเหตุการณ์ในศึกฟุตบอล ฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชันส์ คัพ ปี 2003 ที่ มาร์ค วิเวียง โฟเอ้ ดาวเตะทีมชาติแคเมอรูน ล้มหมดสติและเสียชีวิตคาสนามในเกมรอบรองชนะเลิศที่พบกับโคลอมเบีย

       ณ เวลานั้น อาการหัวใจวายกับนักกีฬาถือว่าเป็นเรื่อง "ไกลตัว" ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะธรรมชาติของนักกีฬาต้องมีความแข็งแรง รวมถึงมีการทดสอบสมรรถภาพร่างกายอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ ทีมแพทย์ข้างสนามจึงไม่เคยเตรียมการรับมือกับเคสแบบนี้ ได้แต่จับพลิกตัวไปมาและแค่ซับเหงื่อ กว่าจะเริ่มรู้ว่าต้องปั๊มหัวใจ เวลาก็ผ่านไปกว่า 5 นาทีแล้ว ซึ่งช้าเกินกว่าจะช่วยชีวิตไว้ได้

       บทเรียนจากการเสียชีวิตของ มาร์ค วิเวียง โฟเอ้ ในครั้งนั้น ทำให้ทุกฝ่ายในวงการลูกหนังได้ตระหนักถึงความสำคัญของการ CPR โดยฟีฟ่าเริ่มมีการฝึกหลักสูตรให้ทีมแพทย์ข้างสนามรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ทั้งการทำ CPR และการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า นอกจากนั้นยังผลักดันให้ทุกสนามแข่งขัน มีอุปกรณ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator-AED) ที่สามารถนำมาใช้ได้ทันท่วงที

กู้ชีพ "คริสเตียน อีริคเซ่น" บทเรียนจากความสูญเสียครั้งอดีต



ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันเคสหัวใจวายหรือการล้มลงหมดสติในสนาม ฟีฟ่าได้วางข้อแนะนำไว้ 9 ข้อ ดังนี้

  • 1.หากมีผู้ล้มลง-หมดสติในสนามแข่งขัน แม้จะไม่ได้สัมผัสบอลหรือสิ่งกีดขวางก่อนหน้าก็ตาม ให้ทีมแพทย์เข้าถึงตัวทันที เนื่องด้วยเวลาเป็นปัจจัยสำคัญในสถานการณ์นี้
  • 2.ตรวจสอบการตอบสนองของผู้ป่วย
  • 3.พลิกตัวเป็นท่านอนหงาย ระวังคอให้มาก
  • 4.แจ้งหน่วยฉุกเฉินโดยเร็วที่สุดหากไม่มีคนที่มีความรู้ความชำนาญคอยช่วยเหลือ
  • 5.ควรมีเครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติในทุกสนาม รวมถึงสนามฝึกซ้อม หากไม่มีอยู่ใกล้ๆ ให้ร้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
  • 6.ในขณะที่มีคนกำลังจัดการกับเครื่องกระตุ้นหัวใจ (ถ้ามี) หรือติดต่อแผนกฉุกเฉิน ให้ทำ CPR ไปด้วยโดยเร็วที่สุด และอย่าหยุดโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้
  • 7.เมื่อเครื่องกระตุ้นหัวใจมาถึง ให้เริ่มเปิดเครื่องทำงานทันที โดยทำตามคำแนะนำที่ติดอยู่ข้างอุปกรณ์
  • 8.แจ้งรถฉุกเฉินเพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
  • 9.รถฉุกเฉินจะนำเทคนิคขั้นสูงด้านการกระตุ้นหัวใจและรักษาสัญญาณชีพมาใช้ก่อนถึงมือแพทย์ต่อไป

  •        แม้ทุกการสูญเสียจะเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่อย่างน้อย ก็เป็นบทเรียนที่ทำให้เรานำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดอย่างในอดีตอีก และกรณีของ คริสเตียน อีริคเซ่น ก็เป็นตัวอย่างชัดเจนที่ทำให้เห็นว่า วงการลูกหนังประสบความสำเร็จในการดูแลชีวิตของนักกีฬาได้อย่างไร

    logoline