svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

นายกฯ ยินดี ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูการบินไทย ส่ง"ปิยสวัสดิ์" Take-off แผนขับเคลื่อน

15 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกฯ ยินดี ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ"การบินไทย" ส่ง"ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์" Take-off แผนขับเคลื่อน ด้าน"ชาญศิลป์" ระบุ ขอให้เจ้าหนี้และลูกค้าของการบินไทยเชื่อมั่นว่า การบินไทยพร้อมที่จะกลับมา

ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย
วันนี้(15มิ.ย.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดนัดฟังคำสั่งศาลในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย หลังจากที่ศาลล้มละลายกลางได้รับคำคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้จำนวน 2 ฉบับ คำชี้แจงของผู้ทำแผน ตลอดจนความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในประเด็นต่าง ๆ แล้ว

โดยศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและแผนแก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ส่งผลให้ผู้บริหารตามฟื้นฟูที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข ประกอบด้วย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายไกรสร บารมีอวยชัย และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้บริหารแผน มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า วันนี้ ทราบว่าศาลล้มละลายกลาง ได้อนุมัติแผนฟื้นฟูบริษัทการบินไทย แล้ว จึงขอแสดงความยินดีด้วย ซึ่งเป็นการเดินหน้าฟื้นฟูการบินไทยให้สำเร็จต่อไป

ขณะที่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลาง ได้มีคำสั่งรับแผนฟื้นฟูเป็นที่เรียบร้อย พร้อมให้ผู้บริหารดำเนินการตามแผน ฯ เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยสามารถขยายระยะเวลาดำเนินการ ของแผนได้ครั้งละ 1 ปี 2 ครั้ง รวมไม่เกิน 7 ปี ซึ่งมั่นใจว่า เป็นกรอบเวลาที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้บริษัทฯการบินไทย ขอขอบคุณศาลล้มละลายกลาง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี เจ้าหนี้ ลูกค้า คู่ค้า คณะผู้จัดทำแผนทั้ง 7 ท่าน และพนักงานทุกคนที่มีส่วนทำให้การบินไทยได้รับความเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลางและมอบโอกาสให้การบินไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และเชื่อว่าผู้บริหารแผนพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของเจ้าหนี้ทุกรายขอให้เจ้าหนี้และลูกค้าของการบินไทยเชื่อมั่นว่า การบินไทยพร้อมที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจและให้บริการ เพื่อกลับมาเป็นองค์กรที่แข่งขันในตลาดและสามารถสร้างความภาคภูมิใจแก่ประเทศไทยและคนไทยในฐานะที่เป็นสายการบินแห่งชาติ ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ประชุมได้มีมติโหวตยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย และแผนที่เจ้าหนี้เสนอแก้ไข 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 4 ผู้ทำแผน (การบินไทย), ฉบับที่ 13 ธนาคารกรุงเทพ, และฉบับที่ 15 ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) โดยยอมรับรวมทั้งหมด 28 กลุ่ม จากเจ้าหนี้ทั้งหมด 36 กลุ่ม จำนวนหนี้รวมทั้งสิ้น 1.16 แสนล้านบาท คิดเป็น 91.56% เป็นจำนวนหนี้ที่ไม่น้อยกว่า 50% ของหนี้ ได้ออกเสียงลงคะแนน จึงเป็นประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนและแผนที่แก้ไข

แผนฉบับที่ 4 เป็นคำร้องยื่นของแก้ไขแผนฟื้นฟูของการบินไทย หรือในฐานะ "ลูกหนี้" ซึ่งระบุถึงเหตุผลการขอแก้ไขว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เจ้าหนี้มีความเชื่อมั่นในแผนฟื้นฟู การบินไทยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและได้รับสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ไม่ด้อยกว่าก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

แผนฉบับที่ 13 เสนอรายชื่อผู้บริหารแผนเพิ่ม 2 ราย คือ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายไกรสร บารมีอวยชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการประนอมหนี้และกฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ และเป็นอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี เข้าเป็นผู้บริหารแผน

แผนฉบับที่ 15 เสนอแก้ไขแผนใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1. การแปลงหนี้เป็นทุน การให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้ หลังปีที่ 7 หุ้นละ 2.5452 บาท ครอบคลุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ ตั้งแต่กลุ่ม 18-31 ขณะที่เจ้าหนี้กลุ่ม 4-6 จะสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้ เพราะมีหนี้คงเหลือหลังปี 7 2. ปรับโครงสร้างทุน ลดทุน เพิ่มทุน มีทางเลือกในการแปลงหนี้เป็นทุน 3.จัดการหาประโยชน์ทรัพย์สินทรัพย์ตามการเรียกร้องลูกหนี้ ครอบคลุมและมีความเหมาะสม 4. แต่งตั้งผู้ทำแผน โดยได้เสนอผู้ทำแผน 3 ราย คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร และ 5. ให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเจ้าหนี้ ขอให้ผู้บริหารแผนชี้แจงการดำเนินการ ความคืบหน้า การขายทรัพย์สินในแผน เป็นต้น

logoline