svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อดีตผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผย สาเหตุ 3 ประการ "วัคซีนโควิด" ไม่มาตามนัด

15 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อดีตผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผย 3 ประการสาเหตุ'วัคซีนโควิด'ไม่มาตามนัด วัคซีนมีน้อย การสื่อสารระหว่างองค์กรไม่สอดรับกัน การประเมินผลเชิงนโนบายยังไม่เพียงพอ

วันนี้(15มิ.ย.64) นพ.จรุง เมืองชนะ อดีต ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก Charung Muangchana ถึงสาเหตุวัคซีนโควิดไม่มาตามนัด ซึ่งสรุปใจความได้ ว่า ตั้งข้อสงสัยว่าปัญหาสำคัญของวัคซีนไม่มาตามนัด มีเพียง 3 ประการหลัก คือ ประการแรก วัคซีนมีน้อย และถูกใช้จนหมด ใช้แบบไม่เหมาะสม คลาดเคลื่อน ไปจากมาตรการและนโยบายที่วางไว้ ใช่หรือไม่? แม้ข้อมูลผลการกระจายและฉีดวัคซีน กว่า 7 ล้านโดส ตั้งแต่ 28 ก.พ. ถึงเมื่อวาน 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้อุ่นใจได้ระดับหนึ่ง ว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มแล้ว 100.9% จากเป้าหมาย 712,000 คน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขมันฟ้อง ว่าเปอร์เซ็นต์การได้รับวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายอื่นในโรดแมปดังกล่าว มันผิดเพี้ยนไป เพื่อลดการป่วยรุนแรงและการป่วยตายให้ได้มากที่สุด นี่คือคำตอบว่าทำไมผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จึงถูก WHO จัดไว้ให้อยู่แถวหน้า เป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนก่อนใคร, รองลงมา. แต่ผลการให้วัคซีนกลับตาลปัตร คือ ผู้สูงอายุ ได้รับเพียง 0.3% และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้รับ 1.5% ถูกแซงนำหน้าโดยประชาชนคนทั่วไป ซึ่งได้รับ 2.0% อย่างไม่น่าเชื่อ. ดูตัวเลขเปอร์เซ็นต์เหมือนไม่มาก แต่คิดเป็นจำนวนวัคซีนกว่าสองล้านโด๊สเลยทีเดียว.

ข้อมูลผลการฉีดวัคซีนดังกล่าว สะท้อนว่าการปฏิบัติการไม่เป็นไปตามแผนและนโยบายเสียแล้ว ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนวัคซีนให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก เพราะต้องสูญเสียวัคซีนไปให้กลุ่มที่ยังไม่ถึงเวลา (ประชาชนทั่วไป) กว่า 2.5 ล้านโด๊ส หรือ 40.8% ของวัคซีนที่ได้รับ
ประการที่สอง การประสานงาน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานแต่ละระดับไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอในการดำเนินงานให้สอดรับกัน ใช่หรือไม่? โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเชิงรุก การคาดการณ์ที่ใกล้เคียง ทั้งปริมาณวัคซีนภาพรวมระดับประเทศ และการแบ่งสันปันส่วนให้พื้นที่เป็นการล่วงหน้า เป็นรายสัปดาห์ ตามสถานการณ์ระบาดและประชากรกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ ยังค้นเอกสารเหล่านี้ไม่เจอเลย หรือมันเป็นความลับดับมืด ที่เปิดเผยไม่ได้ หรือถูกตัดหน้าแย่งวัคซีนไปใช้นอกแผน หรือต้องเกรงใจใครบางคนมากกว่ากลัวการสูญเสียชีวิตของประชาชนหรือไม่ เท่าที่ค้นพบ คือ การแถลงข่าว ว่ากรมควบคุมโรคได้จัดสรรวัคซีนตามเกณฑ์และนโยบายของ ศบค. แล้ว, ส่วนการนำวัคซีนไปใช้หรือกระจายต่อ รวมทั้งการแก้ปัญหาขาดแคลน หรือวัคซีนมาไม่ทันเวลา เป็นหน้าที่ของพื้นที่ต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมเอง

ประการที่สาม การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อติดตามประเมินผลเชิงนโยบายยังไม่เพียงพอ ยังตื้นเกินไปหรือไม่. ใครได้รับวัคซีนครอบคลุมกี่เปอร์เซ็นต์เสนอกันแต่ภาพรวมทั้งประเทศ ผิวเผิน มิอาจใช้สะท้อนว่าการดำเนินการให้วัคซีนสอดรับกับมาตรการและนโยบายดีเพียงไร ในแต่ละพื้นที่ และหน่วยงาน? ควรนำข้อมูลการได้รับวัคซีนมาจำแนกแยกแยะ ว่ากลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนในแต่ละพื้นที่เป็นสัดส่วนตามสถานการณ์การระบาดหรือไม่ เช่น มีข่าวว่าบางจังหวัดมีผู้ป่วยน้อยแต่ได้วัคซีนมากกว่าใครเขา บางข่าวแจ้งว่าคุณหญิงคุณนายจากต่างจังหวัดใช้เส้นสายมารับวัคซีนถึงเมืองกรุง บอกแต่เพียงโค้ดลับก็ได้รับวัคซีนสมใจ ฯลฯ นอกจากการสอบสวนความผิดปกติเฉพาะเหตุการณ์แล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก จำแนกรายพื้นที่ และหน่วยงาน จะช่วยตอบคำถามได้เช่นกันว่าระดับปฏิบัติการสอดรับกับนโยบายและมาตรการที่วางไว้หรือไม่
ปรมาจารย์ทางระบาดวิทยาสากลแนะนำไว้อย่างน่าสนใจ ว่าคำพูดและความคิดเห็นของคนหรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญ เชื่อถือได้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับแหล่งข้อมูลเชิงประจักษ์อื่น ๆ เพราะคำพูดและความเห็นของคนมักมีอคติ(Bias) เจือปนอยู่ไม่มากก็น้อยเสมอ เราควรเชื่อข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบและวิเคราะห์กันมาอย่างดีแล้วมากกว่า ชาติจะได้เจริญ หลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางเสียที
ทั้งนี้ วิธีคำนวณ:
(1)จำนวนวัคซีนที่ใช้ในประชาชนทั่วไป 2.5 ล้านโดส
(2)จำนวนวัคซีนที่กระจายออกไปทั้งหมด 7.0 ล้านโดส
ดังนั้น การใช้วัคซีนในประชาชนทั่วไป เมื่อเทียบกับวัคซีนที่กระจายทั้งหมด = (2.5/7.0)100 =40.8%

logoline