svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

4 ปัจจัยยุบสภา จับตาเกมซ้อนเกมแก้ รธน.

12 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความเคลื่อนไหวการเมืองส่งท้ายปลายสัปดาห์ / ต้องบอกว่าสัญญาณยุบสภามาแรงสุดๆ จากเหตุปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน .

1.คำแถลงของนายกฯที่หลายคนไม่ได้เชื่อว่าพูดผิด ที่บอกว่าให้เร่งแถลงผลงาน และวางแผนงานในระยะเวลาของรัฐบาลที่เหลืออยู่ 1 ปี ทั้งๆ ที่วาระของรัฐบาลยังเหลืออีกเกือบ 2 ปี การพูดว่าเวลาของรัฐบาลเหลืออีก 1 ปี สอดคล้องกับข่าวที่ว่า อาจจะมีการตัดสินใจยุบสภาในปีหน้า 

4 ปัจจัยยุบสภา จับตาเกมซ้อนเกมแก้ รธน.


2.ความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหา โดยเฉพาะพรรคแกนนำอันดับ 1 กับ 2 หรือพูดให้ตรงจุด คือ นายกรัฐมนตรี กับ พรรคภูมิใจไทย /  ที่ผ่านมามีการเปิดฉากปะทะกันมาหลายรอบ และภูมิใจไทยใช้วิธีฉวยจังหวะด่านายกฯกลางสภา แม้ไม่ได้ใช้คำหยาบหรือรุนแรงเหมือนฝ่ายค้าน แต่ก็มีบทบาทไม่ต่างอะไรกับ "ฝ่ายค้านในรัฐบาล" ซึ่งบรรยากาศแบบนี้สร้างความอึดอัดทางการเมือง และอยู่ด้วยกันต่อยาก
3.มีข่าวว่าการประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐ จะมีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค จาก "เสี่ยแฮงค์" อนุชา นาคาศัย เป็น "ผู้กองเจ้าของสวนกล้วย" ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า งานนี้แม้ผู้ใหญ่ในพรรคจะออกมายืนกรานว่าการประชุมใหญ่หนนี้ ไม่มีวาระเปลี่ยนตัวกรรมการบริหารพรรค แต่ข่าวแจ้งว่า "คนใกล้ชิดผู้กอง" โดยเฉพาะ "กลุ่ม 3 ช. - 4 ช." โทรบอกคนสนิทแล้วว่าเปลี่ยนตัวแน่ / ซึ่งหากมีการเปลี่ยนจริง ก็เท่ากับเป็นการเปลี่ยนเพื่อปรับทัพรับเลือกตั้ง

4.พรรคพลังประชารัฐเร่งเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา มีการ "หย่อนเบ็ด" แก้กติกาเลือกตั้ง จากบัตรใบเดียว เป็นบัตร 2 ใบ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 / แถมขยาย ส.ส.เขตเป็น 400 คน (จากเดิม 350) และลดปาร์ตี้ลิสต์เหลือแค่ 100 คน / ซึ่งแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ ทุกพรรคการเอาด้วยแน่ ไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือรัฐบาล 

4 ปัจจัยยุบสภา จับตาเกมซ้อนเกมแก้ รธน.


แต่ประเด็นที่พรรคพลังประชารัฐ ไม่ยอมเสนอแก้ คือ "ปิดสวิทช์ ส.ว." มาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าหากไปแตะอำนาจ ส.ว. ทางสภาสูงก็จะไม่ยอมโหวตผ่านให้ 
สาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ จะแตกต่างจากพรรคร่วมรัฐบาลอีก 3 พรรคที่เหลือ คือ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา รวมถึงร่างแก้ไขของฝ่ายค้านที่จะมีการประชุมกันสัปดาห์หน้า นั่นก็คือ การแก้ไขมาตรา 256 ให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น ใช้แค่เสียงข้างมากของรัฐสภา (เสียง 3 ใน 5) แต่ไม่ต้องมีเงื่อนไข ส.ว.เห็นชอบ 1 ใน 3 หรือ 82 เสียงขึ้นไป พูดง่ายๆ คือถ้าเป็นประเด็นที่ ส.ส.เห็นพ้องกันหมด ก็จะแก้ได้ทันที โดยไม่ต้องสนเสียง ส.ว.
นอกจากนั้นก็จะมีประเด็น "ปิดสวิทช์ ส.ว." มาตรา 272 ตัดอำนาจโหวตเลือกนายกฯ / และอีกประเด็น คือ แก้กติกาเลือกตั้ง ใช้ระบบบัตร 2 ใบ ซึ่งก็เหมือนกับที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ
เกมซ้อนเกมอยู่ตรงนี้ / คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยไม่ได้แก้มาตรา 256 และไม่ไปแตะหมวดพระมหากษัตริย์ ศาล และองค์กรอิสระ เป็นการแก้ที่ไม่ต้องทำประชามติ / และการโหวตแต่ละวาระ ใช้เสียงข้างมาก เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 369 เสียงขึ้นไป จากสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ 737 เสียง และในจำนวน 369 เสียงขึ้นไปนั้น ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 หรือ 82 เสียง 

เช็คเสียงในสภาขณะนี้ พรรคพลังประขารัฐมี 121 เสียง บวกกับ ส.ว. 250 เสียง จะเท่ากับ 371 เสียง ถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ก็จะสามารถแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่ตัวเองต้องการได้ทุกประเด็น / ส่วนร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น รวมทั้งฝ่ายค้านที่ไปแตะอำนาจ ส.ว. ก็จะไม่ได้รับการโหวตให้จาก ส.ว. (เพราะไปตัดอำนาจเขา) ทำให้ร่างแก้ไขไม่มีทางผ่าน เนื่องจากจะไม่ได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.เกิน 1 ใน 3 หรือ 82 เสียงขึ้นไป 
นี่คือความได้เปรียบของพรรคพลังประชารัฐ ในเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราที่ยังถือไพ่เหนือกว่าทุกพรรค / ที่สำคัญเมื่อแก้รัฐธรรมนูญผ่านแล้ว ซึ่งกรอบเวลาจะอยู่ราวๆ สิ้นปีนี้ / จากนั้นมีการตัดสินใจยุบสภา / พรรคพลังประชารัฐ หรือพูดให้ชัดคือ "กลุ่ม 3 ป." ก็จะยังคงความได้เปรียบทางการเมือง / เพราะเมื่อเลือกตั้งผ่านพ้นไป การโหวตเลือกนายกฯยังต้องมี ส.ว.ร่วมโหวต ก็เท่ากับมี 250 เสียงตุนอยู่ในกระเป๋า / เป็นแรงดึงดูดให้พรรคการเมืองทั้งหลายจำต้องสนับสนุนพลังประชารัฐ หรือ "3 ป." เพื่อเป็นรัฐบาลต่อไปในสมัยหน้า 

4 ปัจจัยยุบสภา จับตาเกมซ้อนเกมแก้ รธน.


แต้มต่อทางการเมืองนี้ หากผสมรวมกับสถานการณ์โควิดที่อาจจะคลี่คลายในไม่ช้า / วัคซีนเข้ามาอย่างไม่ขาดตอน / คะแนนนิยมรัฐบาลอาจจะฟื้น / เผลอๆ "3 ป." อาจกลับไปใช้แผนเดิม คืออยู่ยาวครบวาระในปี 2566 เพราะต้องการรบในสมรภูมิที่ตัวเองได้เปรียบนี้...ต่อไป

logoline