svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

"เสี่ยตัน"ลั่นสู้โควิดไม่ทิ้ง"one Nimman"เชียงใหม่

11 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ตัน ภาสกรนที" โพสต์ใจยังสู้พัฒนาธุรกิจที่เชียงใหม่ ยัน one Nimman จากที่เคยมีนักท่องเที่ยว 5,000-8,000 คนหายไปเหลือไม่ถึงวันละ 1,000 คน ชี้พิษเศรษฐกิจซบเซาจากโควิด19 เล่นงาน ร่ายยาวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ยังให้กำลังใจ "โน้ต อุดม" หลังต้องปิดร้านไอศกรีมชื่อดังเซ่นพิษเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน นายตัน ภาสกรนที หรือ "เสี่ยตัน อิชิตัน" นักธุรกิจชื่อดังเจ้าของเครื่องดื่มชาเขียวชื่อดัง "อิชิตัน" และมีการลงทุนในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่หลายรายการเช่นโรงแรม WEastin Tan Hotel Chiang Mai" และ โครงการ "one Nimman" ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจของตนเองเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านธุรกิจของตนเองที่กำลังประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา รวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศเกิดการชะลอตัว และจากสถานการณ์ล่าสุดที่ "โน้ต" อุดม แต่พานิช ศิลปินเดี่ยวไมโครโฟนชื่อดังของประเทศประกาศปิดกิจการร้านไอศกรีม iberry Garden ในย่านนิมมานเหมินต์ เชียงใหม่ หลังไม่สามารถฝืนทำธุรกิจต่อไปได้  


"เสี่ยตัน"ลั่นสู้โควิดไม่ทิ้ง"one Nimman"เชียงใหม่


     โดยมีข้อความว่า "ถ้าไม่นับสมัยวัยรุ่น ความทรงจำครั้งแรกของผมเกี่ยวกับเชียงใหม่ส่วนหนึ่งมาจากอุดม แต้พานิช จำได้ว่าตอนนั้นเขากำลังเตรียมทำ เดี่ยว 8 ผมมีโอกาสไปนอนบ้านของเขาซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านนันทวัน ย่าน ถ.นิมมานฯ ตื่นเช้ามาก็เดินไปกินก๋วยเตี๋ยวตำลึง บ่ายๆ ก็แวะเข้าไปกิน "มนต์นมสด" กลางวันอาจจะร้อน แต่ตอนเช้ากับตอนเย็นอากาศดีมาก บรรยากาศไม่เร่งรีบ นักท่องเที่ยวยังน้อยนิด คนเชียงใหม่อัธยาศัยดีมีความเป็นอาร์ทิส เป็นมิตร เมืองดูน่ารักไปหมด ...ชอบเลย

แต่ความหลงรักเชียงใหม่เกิดขึ้นจริงจังเมื่อผมไปเที่ยวงาน NAP งานแสดงศิลปะ ของใช้ ของที่ระลึกทำมือ งานคราฟท์ ที่ศิลปินร่วมสมัยท้องถิ่นรวมตัวกันเปิดร้าน เป็นงานประจำปีที่ นิมมานฯ ซอย 1 ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ผมก็ไปต่อเนื่องมา 10 กว่าปี ในขณะที่ผมชอบเดินเที่ยวงานอาร์ตปีละครั้ง อุดมกลับหลงใหลตั้งใจจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่


"เสี่ยตัน"ลั่นสู้โควิดไม่ทิ้ง"one Nimman"เชียงใหม่


          พอรู้จักเชียงใหม่มากขึ้นผมได้สังเกตว่าถนนนิมมานฯ มีลักษณะหัว-ท้าย ร้าง ตรงกลางเจริญ ศูนย์กลางความเจริญของ ถ.นิมมานฯ รวมตัวกันในชื่อ "วอร์ม อัพ" กับ "มังกี้ ผับ" ในขณะที่ร้านอาร์ตเล็กๆ ร้านอาหารอร่อยๆ กระจายอยู่ตามแนวถนนและเก็บตัวอยู่ภายในซอย 1-17 เกือบทุกร้านมีงานศิลปะเป็นเอกลักษณ์ประจำหน้าร้านที่จังหวัดอื่นไม่ค่อยมี การซ่อนตัวตามซอยเล็กๆ เป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่ต้องใช้การเดินเข้าไปสังเกตแล้วสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเองเท่านั้น


              ไปเที่ยวบ่อยๆ ทำให้ผมฝันว่าถ้ามีโอกาส ผมอยากมีส่วนร่วมสร้างถนนเส้นนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเล็กๆ อีกแห่งของเชียงใหม่ ในหัวผมเริ่มเชื่อมโยงภาพสี่แยก ถ.นิมมานฯ เข้ากับอีกเมืองที่ผมชอบเดินทางไป ...ชิบูย่า โตเกียว


            ถ้าใครเคยไปพักโรงแรมอีสติน ตัน ตรงหัวมุม ถ.นิมมานฯ แล้วเห็นต้นไทรขนาดใหญ่เกือบ 10 คนโอบ ต้นไม้ใหญ่นั้นคือจุดเริ่มต้นของผมกับการทำงานบนที่ดินผืนนี้ ครั้งแรกที่เห็น ผมคิดเล่นๆ ว่าถ้าเจ้าของขายต้นไทรนี้ ผมจะขอซื้อที่ด้วย มีฝรั่งคนหนึ่งเข้ามาถามอย่างตกใจว่าถ้าผมซื้อที่ผืนนี้ เขาขอร้องว่าอย่าตัดต้นไม้นะ ไม้ใหญ่สวยแบบนี้หาไม่ได้อีกแล้ว ผมตอบเขาไปว่าถ้าไม่มีต้นไม้ต้นนี้ผมก็คงไม่มีโอกาสมาป้วนเปี้ยนตรงที่ดินแปลงนี้


              จากนั้นผมก็ขวนขวายจนได้ไปพบคุณอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของที่จนได้ ท่านซื้อที่ตรงนี้มาหลายสิบปีแต่ยังไม่มีโครงการจะสร้างอะไร ผมจึงเสนอตัวขออนุญาตทำตามความฝันที่คิดเอาไว้ คุณอนันต์คงเห็นความตั้งใจจริง จึงขายต้นไม้แถมที่ดินผืนนี้ให้ จุดเริ่มต้นความฝันเกิดขึ้นตรงนี้       จากที่เคยไปเชียงใหม่ปีละครั้งกลายเป็นเดือนละครั้ง ในที่สุดผมได้เจอที่ผืนใหม่ตรงจุดที่เป็น "เมญ่า" ในปัจจุบัน ตอนนั้นเขาติดป้ายประกาศเปิดประมูลซื้อที่ดิน เหลือเวลายื่นประมูลอีกไม่กี่วันสุดท้ายผมโทรขออนุมัติวงเงินกับเมียทันที ไม่น่าเชื่อ...ยื่นทันก่อนจะหมดนาทีสุดท้าย ทราบภายหลังว่าที่ผืนนั้นมีคนส่งราคาประมูล 1 คนถ้วน...ผมเองครับ


"เสี่ยตัน"ลั่นสู้โควิดไม่ทิ้ง"one Nimman"เชียงใหม่


            ในตอนแรกยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะทำอะไรในที่สุดผมตัดสินใจขายให้กับคุณสุวัฒน์ SF ในราคาถูกกว่าผู้ซื้ออีกรายที่ต้องการนำที่ไปสร้างคอนโดถึง 18 ล้านบาท ด้วยเงื่อนไขเดียวคือ ต้องการสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ การขายขาดทุนกำไร 18 ล้านก็เพื่อแลกกับอนาคตความเจริญของสี่แยกแห่งนี้ สำหรับผมแค่นี้ก็คุ้มแล้ว


     หัวมุมถนนอีกด้านของนิมมานฯ มีสุดยอดแลนด์มาร์คอีกแห่งที่เคยรุ่งเรืองสุดๆ เป็นที่ตั้งของบ้านไม้สักทองหลังใหญ่ ที่เป็นทรัพย์สินของโรงแรม รินคำ โรงแรม 5 ดาวแห่งแรกของเชียงใหม่ นักธุรกิจไทยและต่างประเทศ คนในแวดวงสังคม หรือข้าราชาการชั้นผู้ใหญ่เมื่อ 50 ปีที่แล้วต้องเคยไปพักหรือทานข้าวที่นี่ เด็กเชียงใหม่ยุคนั้นคงยังจำภาพทรงจำของการมาว่ายน้ำที่สระน้ำของโรงแรมได้ ตรงนี้คือ Icon Siam ของเชียงใหม่ในอดีต


     เจ้าของพื้นที่คือตระกูลนิมมานเหมินทร์ ต่อมาได้ร่วมทุนกับกลุ่มโรงแรม อมารี ที่ตรงนี้ติดประเด็นข้อกฎหมายใหม่ ไม่สามารถสร้างอาคารใหม่ได้ ถ้าจะใช้พื้นที่มีทางเดียวคือซ่อมอาคารหลังเก่าอายุ 50 กว่าปี เพื่อให้สามารถใช้งานต่อไปได้อีก 50 ปี เมื่อสร้างอาคารใหม่ไม่ได้ การซ่อมก็ไม่คุ้มทุน โรงแรมอมารี รินคำจึงปิดตัวลงทันทีที่หมดสัญญา

บ้านไม้สักประวัติศาสตร์โบราณที่คนรุ่นเก่าผูกพันหลังนั้น เป็นแรงดึงดูดให้ผมพยายามหาโอกาสไปพบกับเจ้าของที่ดินจนได้ หลังพูดคุยถึงความตั้งใจของผม เจ้าของท่านหนึ่งพูดขึ้นว่า


"ถ้าคุณตันสนใจก็ช่วยรักษาธุรกิจในพื้นที่ตรงนี้ไว้ให้หน่อย"  ...คำนี้เอาใจผมไปเลย ถ้าจะพัฒนาต้องปรับจากอาคารเก่าเท่านั้น ใครคิดในมุมธุรกิจจะรู้ว่าไม่คุ้มเอาเสียเลย แต่ผมก็ไม่ได้คิดในมุมธุรกิจ ผมแค่ทำตามภาพในฝันที่ต้องการมีส่วนทำให้สี่แยกนิมมานฯ เป็นจุด check in ของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ เพื่อเก็บความทรงจำของเชียงใหม่กลับบ้านไปที่ตรงนั้นกลายเป็น One Nimman ในวันนี้  600 ล้านบาทคืองบประมาณแรกที่ตั้งไว้ แต่กว่าจะสวยอย่างที่ฝันในที่สุดงบก่อสร้างจบลงที่ 1,500 ล้าน พร้อมหน้าเมียที่ลอยมาและภาพผมนั่งคุกเข่า ผมนับถือน้ำใจเมียจริงๆ             ที่ไม่ต่อว่าซักคำ ...ทำเสร็จความบ้าของผมหายเป็นปลิดทิ้งทันที


"เสี่ยตัน"ลั่นสู้โควิดไม่ทิ้ง"one Nimman"เชียงใหม่


     หลังจากทำ "Eastin Tan Hotel" "U Nimman" "One Nimman" เสร็จ นักท่องเที่ยวเริ่มมามากขึ้น ศิลปินคนในท้องที่เริ่มเข้ามากันครึกครื้น ทุกพื้นที่ของผมกันส่วนกลางขนาดใหญ่ให้คนท้องถิ่นมาร่วมใช้งานฟรี ชีวิตชีวาเกิดขึ้น เศรษฐกิจก็เหมือนจะคล่องตัวขึ้น ดูได้จากราคาค่าเช่าห้องแถวรอบถนนสูงขึ้น 3 เท่า หน้าท่องเที่ยวภาพนักท่องเทียวล้นทะลักบนถนนนิมมานฯ กลายเป็นภาพชินตา ฝันของผมที่อยากจะมีส่วนทำให้พื้นที่ตรงนี้ของเชียงใหม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเริ่มต้นเป็นจริงขึ้นมาแล้ว แล้วในที่สุดโควิดก็มาเที่ยวด้วย ไม่ได้มาเปล่า สร้างความทรงจำไว้ไม่มีวันลืม จากนักท่องเที่ยวเดินช้อปปิ้งใน One Nimman วันละ 5,000-8,000 คน วันนี้นับแล้วนับอีกไม่เคยถึง 1,000 คนซักวัน เผลอๆ อาจจะนับพนักงานที่เดินเข้าออกไปด้วยแล้ว โรงแรมทั้งหมดไม่ต้องพูดถึง หนักหน่วงกันทั้งประเทศ


     เกือบ 2 ปีแล้วที่ถนนนิมานฯ ทั้ง 4 ด้านเงียบจนขนลุกไม่สงสัยเลยทำไม iberry ของอุดมถึงปิดตัวลงไปแต่ความฝันของผมก็ยังไม่จบ ผมเคยคุยกับอุดมไปว่ามุมสุดท้ายที่เหลืออยู่ ถ้ามีโอกาสซื้อและผมยังพอมีกำลัง มุมนี้จะเป็นผลงานสร้างสรรค์ของอุดม แต้พานิช เราคุยกันเสมอว่าเวลาเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยว อย่างอิตาลี หรือเมืองเก่าๆ ในยุโรป จะเห็นงานสถาปัตยกรรมที่สวยเอามากๆ ถ้าศิลปินสมัยก่อนมัวแต่คิดเรื่องความคุ้มทุน สิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลยผมเชื่อว่าอุดมรักเชียงใหม่มาก ร้าน iberry นิมมาน ซ.17 ที่ปิดไป ...เขาไม่เลิกหรอก ซักวันเขาจะกลับมาและยิ่งใหญ่กว่าเดิม

ถ้าเชียงรายมี 3 ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ อย่าง อ.ถวัลย์ ดัชนี อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ท่าน ว. วชิรเมธี  เชียงใหม่ก็ควรจะมีศิลปินน่ารักๆ อย่างอุดม แต้พานิช ประดับเมือง


     ผมว่าอุดมจะนำจิตวิญญาณงานศิลปะร่วมสมัยของเขามาช่วยพลิกฟื้นเมืองเชียงใหม่ได้อีกครั้งหลังโควิดจบลง ส่วนผมยังเชื่อว่าอีกไม่นานผู้คนจะกลับมาอีกครั้ง นักท่องเที่ยวจะเดินทางเหมือนเดิม คราวนี้จะมีคุณภาพขึ้น ผมยังสู้ต่อ และความฝันของผมยังดำเนินต่อไป ถ้าที่ผมยังมีลมหายใจอยู่"

logoline