svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ไขข้อสงสัย "การตรวจด้วยเทคนิคไมโทคอนเดรีย" คดีน้องชมพู่

04 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทนายตั้ม มั่นใจ "ลุงพล" บริสุทธิ์ ยืนยันการตรวจเส้นผมด้วยเทคนิคไมโทคอนเดรีย ไม่สามารถชี้ชัดลุงพลก่อเหตุ เป็นแค่การวิเคราะห์สาแหรกตระกูลสายมารดาเท่านั้น ต่างจากการตรวจดีเอ็นเอที่สามารถระบุตัวตนได้เลย

การตรวจดีเอ็นเอจากเส้นผมน้องชมพู่ที่ตกในที่เกิดเหตุ ด้วยวิธีไมโทคอนเดรีย ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในทางคดีที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม จะนำมาสู้คดีให้กับนายไชย์พล วิภา หรือลุงพล และกลายเป็นคำถามที่สร้างความสงสัยให้กับสังคมว่า การตรวจด้วยเทคนิคไมโทคอนเดรียนั้น ต่างจากการตรวจดีเอ็นเอปกติอย่างไร แม่นยำมากน้อยแค่ไหน ระบุชี้ชัดตัวบุคคลนั้นๆ ได้จริงหรือไม่

ดีเอ็นเอในเซลล์ของสัตว์รวมทั้งมนุษย์ มีอยู่สองที่ในเซลล์ ตัวหนึ่งอยู่ในตัวนิวเคลียส เราเรียกว่านิวเคลียร์ดีเอ็นเอ ยาวประมาณ 3000 ล้านเบส ซึ่งถือว่ายาวมาก และในหนึ่งเซลล์จะมีแค่สองก๊อปปี้อีกตัวหนึ่งอยู่ในตัวไมโทคอนเดรีย เป็นตัวสร้างพลังงานของเซลล์ เราจะเรียกไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ หรือ mtDNA โดยหนึ่งเซลล์มีได้เป็น สิบ เป็นร้อย เป็นพัน ก๊อปปี้ ยาวแค่ 16000 กว่าเบสเท่านั้น

สภาพศพหรือหลักฐานที่เสื่อมสภาพ เช่น เส้นผมที่ไม่มีรากอย่างคดีน้องชมพู่ เราไม่สามารถตรวจนิวเคลียร์ดีเอ็นเอได้ เพราะนิวเคลีย์ดีเอ็นเอ มีไม่พอ หรืออาจเสื่อมสลายไปแล้ว ก็ต้องไปตรวจไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ เนื่องจากว่ามีก๊อปปี้ที่เยอะกว่ามาก มีโอกาสที่จะอยู่รอดได้ มันทนทานต่อการเสื่อมสภาพได้ดี แต่มีข้อเสียคือ ไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ มันจะเหมือนกันหมดในคนที่อยู่สายมารดาเดียวกัน โดยจะเป็นการวิเคราะห์สาแหรกตระกูลสายมารดา นับจากเด็กชายหรือหญิง ย้อนไปถึงแม่ของพวกเขา แล้วย้อนไปถึงยาย ยายทวด ดังนั้นเราสามารถบอกความสัมพันธ์ทางสายเลือดได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นใครเป๊ะๆ ต่างจากนิวเครียร์ดีเอ็นเอที่ระบุตัวตนได้เลย อย่างเช่น เส้นผมที่ตกในที่เกิดเหตุ ตำรวจระบุว่าเป็นของป้าแต๋น ซึ่งก็เป็นพี่สาวของแม่น้องชมพู่ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของลุงพล

ขณะเดียวกันมีหลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมคดีน้องชมพู่ ผ่านมา 1 ปี เพิ่งจะมาพูดถึงเรื่องเส้นผม หากย้อนไปดูเรื่องวัตถุพยาน มีการพูดถึงเรื่องเส้นผมนานแล้ว ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกมาระบุว่า ตรวจดีเอ็นเอ 100 กว่าตัวอย่าง จากวัตถุพยาน จึงเป็นไปไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่เพิ่งจะมาตรวจเส้นผมเร็ว ๆ นี้

การตรวจไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ เคยถูกใช้ในคดีดังต่างๆ มากมาย หนึ่งในคดีที่ดังที่สุดระดับโลก คือ คดีฆ่ายกครัวสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โรมานอฟ ของรัสเซีย หลังจากทั้งหมดถูกสังหารโดยกลุ่มบอลเชวิกสมัยปฏิวัติรัสเซีย โดยมีการระบุตัวตนครอบครัวโรมานอฟ จากโครงกระดูกที่พบในป่า เมื่อปี 1976 ก่อนที่จะมีการขุดค้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1991 หรือคดี นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ อายุ 31 ปี นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย จ.เพชรบุรี ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557 โดยฝั่งอัยการให้ความเห็นของการพิสูจน์ชิ้นกระดูกด้วยการใช้วิธีไมโทคอนเดรียว่าเป็นเพียงการตรวจเพื่อทราบถึงสื่อสัมพันธ์สายมารดาเท่านั้น โดยการตรวจวิธีนี้ไม่เพียงพอยืนยันตัวบุคคลที่ชี้ชัดว่ากระดูกของกลางเป็นของบุคคลใด จึงทำให้อัยการตีตกในเรื่องดังกล่าว

คงต้องรอลุ้นกันว่า ประเด็นการตรวจดีเอ็นเอนี้ จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้ลุงพลกลายเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ 

logoline