svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นายกฯ แจง 6 ยุทธศาสตร์ใช้งบประมาณ ทุ่มสูงสุด 7.33 แสนล้านสร้างโอกาสและความเสมอภาค

31 พฤษภาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นายกฯ" เผย 6 ยุทธศาสตร์ใช้งบประมาณ ทุ่มสูงสุด 7.33 แสนล้านสร้างโอกาสและความเสมอภาค ระบุ สิ้น มี.ค. หนี้สาธารณะ 53.4 % ยังไม่เกินเพดานกฎหมายกำหนด คาดปีหน้าเศรษฐกิจไทยโต 4-5 % ฟื้นตามเศรษฐกิจโลก

วันนี้ (31 พ.ค.) เวลา 09.40 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระรับหลักการ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)เป็นผู้เสนอ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอร่างพ.ร.บ.งบรายจ่ายประจำปี 65 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ตามความคืบหน้าของการอนุมัติและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งด้านการเงินและการคลังที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน รวมทั้งการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในปี 2564 ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนนำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจท่ามกลางตลาดแรงงานและกิจกรรมทางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 2.0

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0 - 5.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของหลายประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวนับตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2564 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อ สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มี.ค. 2564 มีจำนวน 8.47ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เม.ย. 2564 มีจำนวน 3.72 แสนล้านบาท

"การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมามีการผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดระลอกแรกและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในเดือนก.พ. และมี.ค. 2564 ที่ร้อยละ 0.5 เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมมีความผ่อนคลาย สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการช่วยดูแลภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้และเอื้อให้ต้นทุนทางการเงินของการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ในระดับต่ำ" นายกฯ กล่าว

พลเอกประยุทธ์ กล่าวอีกว่า งบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ 2.4 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 7 แสนล้านบาท วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2.36 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76.1 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 5.96 ร้อยล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.02 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 2.49 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 รายจ่ายลงทุน จำนวน 6.24 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.1 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ทั้งนี้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน10.5 หมื่นล้านบาท

เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประมาณการการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจำนวน ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 1.85 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับรายจ่ายลงทุนที่ต้องดำเนินการ รัฐบาลได้มีมาตรการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่น นอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อนำมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ได้แก่ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) โดยเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่จะดำเนินการในปี 2565 เร่งรัดการลงทุนของหน่วยงาน ตามแผนการใช้จ่ายจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) รวมทั้งการลงทุนโดยใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

พลเอกประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ รัฐบาลได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการภายใต้ร่างพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

นายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า งบประมาณรายจ่ายฯ จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3.87 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.5 ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3.38 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 10.9 ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5.48 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.7

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 7.33 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.7 ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1.19 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.9 และยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5.59 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.0

พลเอกประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยืนยันรัฐบาลได้กลั่นกรองการใช้งบประมาณอย่างรอบคอบ จะเข้มงวด กวดขันป้องกันทุจริตการใช้งบประมาณ พร้อมให้องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ รวมถึงประชาชนก็แจ้งข้อมูลมาได้ จะใช้งบประมาณอย่างสร้างสรรค์ ให้เกิดความโปร่งใส ทำเพื่อประชาชน เพื่ออนาคตของลูกหลาน

logoline