svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"บิ๊กตู่ลาออก-ตั้งรัฐบาลสร้างชาติ" เรื่องจริงหรืออิงนิยาย

18 พฤษภาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงนี้มีการจุดกระแสเรียกร้องให้ "นายกฯลาออก" ขึ้นมาอีกรอบ ซึ่งแม้ข้อเรียกร้องลักษณะนี้จะมีมาหลายครั้งแล้วจากบรรดา "ฝ่ายค้าน" และ "ฝ่ายแค้น" แต่ครั้งนี้ข้อเรียกร้องดูมีน้ำหนักมากกว่าครั้งอื่น เพราะกลุ่มที่ออกมาประกาศจุดยืนล่าสุดคือ "กลุ่มประชาชนคนไทย" ที่นำโดย "ทนายนกเขา" นิติธร ล้ำเหลือ ซึ่งต้องบอกว่าไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

คำถามสำคัญที่ต้องตอบมีอยู่ 2-3 คำถาม คือ
1. ถ้านายกฯลาออกจริง อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง
2. แนวโน้มการตั้ง "รัฐบาลสร้างชาติ" เป็นไปได้หรือไม่ และใครจะมาเป็น "นายกฯคนกลาง" หรือ "นายกฯคนนอก"และ
3. ข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้ มีโอกาสเป็นไปได้แค่ไหน

เริ่มข้อแรกก่อน ถ้านายกฯลุงตู่ลาออก จะเกิดอะไรขึ้น? สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ต้องจัดประชุมรัฐสภาเพื่อซาวเสียงเลือกนายกฯคนใหม่ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ พูดง่ายๆ คือ "แคนดิเดตนายกฯของพรรคการเมือง"
"แคนดิเดตนายกฯ" มีหลายคน เป็นไปตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้พรรคละไม่เกิน 3 ชื่อ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ประกอบมาตรา 89 แต่พรรคที่มีสิทธิ์เสนอชื่อแคนดิเดตของตัวเองขึ้นท้าชิง ต้องมีเสียง ส.ส.ในสภาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 คือไม่ต่ำกว่า 25 คน ฉะนั้นพรรคการเมืองที่มีสิทธิ์เสนอชื่อ จึงน้อยลงไปอีก
จนถึงปัจจุบันมีแคนดิเดตที่มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อชิงนายกฯ ประกอบด้วย
หนึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐ
สอง-สาม-สี่ เป็นแคนดิตเดตของพรรคเพื่อไทย คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ และนายชัยเกษม นิติศิริ
ห้า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
หก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
จริงๆ แล้วพรรคอนาคตใหม่ก็มีเสียง ส.ส.เกินร้อยละ 5 แต่พรรคถูกยุบไปแล้ว แม้จะมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคใหม่ที่ย้ายสำมะโนครัวกันมา แต่ตัวแคนดิตเดต คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปแล้ว
จากรายชื่อที่ปรากฏ หากตัด พลเอกประยุทธ์ ออกไป (เพราะถ้าลาออกแล้วก็ไม่ควรจะกลับมาลงชิงตำแหน่งอีก) ไล่ดูหมายเลข สอง-สาม-สี่ และหก ไม่มีใครเป็น ส.ส.เลย แต่ฝ่ายค้านเคยประกาศว่านายกฯต้องมาจาก ส.ส. ก็จะเท่ากับเป็นการตัดสิทธิ์ 4 คนนี้ไปโดยปริยาย
สุดท้ายก็จะเหลือเพียง นายอนุทิน ชาญวีรกูล เท่านั้นที่มีลุ้น แต่ปัจจุบันกำลังเมาหมัดโควิด ไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ทำให้คะแนนนิยมหดหาย โอกาสที่จะได้เป็นนายกฯริบหรี่
มีคำถามว่าถ้านายกฯไม่ลาออก มีวิธีใดที่จะเอานายกฯออกได้บ้าง? คำตอบคือ ในระบบรัฐสภา มี 2 อย่าง คือ แพ้โหวตในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ซึ่งต้องอภิปรายตัวนายกฯ หรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะเท่านั้น) และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณถูกคว่ำ โดยมารยาท รัฐบาลต้องลาออก
แต่ลองย้อนดูช่วงวิกฤตโควิดระลอก 3 "นายกฯลุงตู่" กางปีกป้อง ไม่เชือดใครเลย ทั้งกรณีสองแกนนำพรรคภูมิใจไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) รวมถึง ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า ฉะนั้นโอกาสที่เสียงสนับสนุนรัฐบาลจะแตกแถว จึงเป็นไปได้ยาก น่าจะรวมเสียงข้างมากฝ่าวิกฤตงบประมาณและศึกซักฟอกไปได้

ไปต่อกันที่ข้อ 2 แนวโน้มการตั้ง "รัฐบาลสร้างชาติ" เป็นไปได้หรือไม่ และใครจะมาเป็น "นายกฯคนกลาง" หรือ "นายกฯคนนอก"
การจะมี "นายกฯคนนอก" ซึ่งหมายถึง "นอกบัญชีแคนดิเดตที่พรรคการเมืองเสนอ" เป็นกรณีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ขั้นตอนต้องเป็นแบบนี้
- เริ่มจากตำแหน่งนายกฯต้องว่างก่อน ไม่ว่าจะ "บิ๊กตู่" ลาออก หรือแพ้โหวตก็ตาม
- จากนั้นเกิดเหตุการณ์ไม่สามารถเลือกนายกฯจากรายชื่อในบัญชีแคนดิเดตได้ (6 คนที่กล่าวไปแล้ว เสนอแล้วไม่มีใครเอา หรือไม่ได้เสียงสนับสนุนมากพอ คือเกินกึ่งหนึ่งของสองสภา ปัจจุบัน สองสภาอยู่ที่ 736 เสียง เกินกึ่งหนึ่งเท่ากับ 369 เสียง)
- เมื่อไม่มีใครได้เสียงสนับสนุนมากพอ สมาชิกทั้งสองสภาเกินกึ่งหนึ่งต้องเข้าชื่อกัน เสนอประธานรัฐสภา ให้เลือกบุคคลจากนอกบัญชี
- เมื่อประธานรัฐสภารับเรื่อง เสียงครบ ก็ต้องจัดประชุมเพื่อยืนยัน ตรงนี้ใช้เสียง 2 ใน 3 เท่ากับ 492 เสียง ถ้าได้เสียงตามนี้ ก็จะจัดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯจากนอกบัญชีแคนดิเดตของพรรคการเมืองได้
มีข่าวว่า มีการหารือในแวดวงผู้อาวุโสในบ้านเมือง ซึ่งบางส่วนอยู่ในสายงานด้านสาธารณสุข เตรียมเสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็น "นายกฯคนกลาง" หรือ "นายกฯนอกบัญชี" ซึ่งนายอานันท์ เคยเป็นนายกฯในรัฐบาลเฉพาะกาลมาแล้ว หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 แต่ไมมีข้อมูลยืนยันว่า นายอานันท์ทราบหรือไม่ว่ามีบางกลุ่มสนับสนุนให้ตนเป็น "นายกฯคนกลาง"
แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องตอบข้อ 3 ให้ได้เสียก่อน นั่นก็คือ ข้อเรียกร้องพวกนี้มีความเป็นไปได้แค่ไหน "นายกฯลุงตู่" จะยอมลาออกหรือไม่
จากการตรวจสอบข้อมูลกับทีมงานที่ทำงานใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี ได้รับคำยืนยันว่า นายกฯจะไม่ลาออก และไม่ถอดใจ เพราะเข้ามาทำหน้าที่เพื่อแก้ปัญหาให้บ้านเมือง การลาออกไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะจะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากกว่าเดิม เนื่องจากไม่มี "นายกฯคนกลาง" ที่ทุกฝ่ายยอมรับอย่างแท้จริง แม้แต่นายอานันท์ ซึ่งระยะหลังมีท่าทีสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมม็อบ 3 นิ้ว จึงน่าจะเจอแรงต้านจากฝ่ายตรงข้ามม็อบ

logoline