svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

พิสูจน์กล้องรมต.เที่ยวคลับ "เนชั่น"ร้อง"ผบ.ตร."ขอความเป็นธรรมถูกฟ้อง

07 พฤษภาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เนชั่น" ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ "ผบ.ตร" หลังถูก "นักการเมือง" ฟ้องจากการนำเสนอข่าวคลัสเตอร์ทองหล่อ พร้อมขอให้นำหลักฐานไฟล์บันทึกกล้องวงจรปิดเข้ามาในสำนวนคดี เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในการนําเสนอข่าว

7 พฤษภาคม 2564 จากการที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจภูธรเมืองบุรีรัมย์ เพื่อให้ดําเนินคดีกับบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), ประธาน กรรมการและประธานกรรมการบริหารของบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) , นางรพีพรรณ เรือนศรี และนายประชาไท ธนณรงค์ ในข้อหาฐานความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) มาตรา 16 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 322, 328 ประกอบมาตรา 83, 90 และ มาตรา 91 กรณีการนําเสนอข่าวการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 จากสถานบันเทิงย่าน ทองหล่อ ผ่านทางรายการเนชั่นทันข่าวค่ำ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ดังรายละเอียดปรากฏตามคดีอาญาที่อ้างถึง
บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ("ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1") ขอเรียนต่อ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ประกอบธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ ให้บริการนําเสนอข่าวผ่านสื่อทีวีดิจิตอล สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยใช้ชื่อในการออกอากาศว่า "เนชั่นทีวี 22" มุ่งเน้นนําเสนอข่าวสารตรงตามข้อเท็จจริงและเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและสาธารณะชน โดยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และที่ 4 ได้นําเสนอข่าวการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งมีแหล่งการแพร่ระบาดมาจากสถานบันเทิงคริสตัลคลับ ทองหล่อ และสถานบันเทิงเอมเมอรัลคลับ ทองหล่อ

โดยก่อนการนําเสนอข่าวผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้มอบหมายให้นักข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากบุคคล ซึ่งเป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ให้ข้อมูลกับนักข่าวว่าในช่วงวันที่ 1 เมษายน 2564 ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ รัฐมนตรีไปใช้บริการสถานบันเทิงเอมเมอรัลคลับฯ และได้มีการเรียกพนักงานให้บริการในสถานบันเทิง (พนักงาน PR) มาให้บริการจํานวนมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากสถานบันเทิงทั้งสองแห่งแล้ว
ประกอบกับเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 นายศักดิ์สยามฯ ได้เปิดเผยต่อสาธารณะว่าตนเองติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้นข้อมูลที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับจากแหล่งข่าวจึงมีความสอดคล้องกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของนายศักดิ์สยามฯ อีกทั้งเรื่องการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-๑๙ เป็นเรื่องที่มีความสําคัญเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน และเป็นข่าวที่อยู่ใน ความสนใจของประชาชน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะสื่อมวลชนจึงมีความจําเป็นที่จะต้องรายงานข่าวข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบถึงสถานะการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามการรายงานข่าว ที่พิพาทคดีนี้ไม่ได้เป็นความผิดตามที่นายศักดิ์สยามฯ ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1. ตําแหน่งประธานกรรมการและประธานกรรมาธิการบริหาร ("ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2") ของบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) สําหรับการบริหารกิจการและงานข่าวของเนชั่นทีวี 22 นั้น จะมี การแบ่งโครงสร้างด้านบริหารบริษัทกับฝ่ายข่าวแยกต่างหากจากกันโดยสิ้นเชิง โดยคณะกรรมการของบริษัทจะเป็น ผู้ดูแลนโยบายของบริษัทและให้ความเห็นต่อฝ่ายบริหารซึ่งดูแลด้านธุรกิจและการตลาด ส่วนงานข่าวจะมีบรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบด้านฝ่ายข่าว ทั้งนี้ฝ่ายบริหารและฝ่ายข่าวจะไม่แทรกแซงก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ดังนั้นผู้ ถูกกล่าวหาที่ 2 จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการนําเสนอข่าว ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลข่าว การนําเสนอข่าวที่พิพาท ในคดีนี้ นอกจากนี้หากพิจารณาจากเนื้อหาข่าวพิพาททั้งหมดแล้วก็ไม่พบว่าผู้ถูกกล่าวที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ นําเสนอข่าวแต่อย่างใด จึงไม่อาจกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ ทั้งนี้ตามนัยคําพิพากษาศาลฎีกา ที่ 5917/2557

2. เมื่อพิจารณาเนื้อหาข่าวพิพาททั้งหมดที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และที่ 4 พิธีกรข่าวได้รายงานข่าวใน วันดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าพิธีกรข่าวเพียงแต่รายงานข่าวโดยตั้งข้อสงสัยว่านายศักดิ์สยามฯ ได้เดินทางไปใช้บริการ สถานบันเทิงคริสตัลคลับฯ และสถานบันเทิงเอมเมอรัลคลับฯ จริงหรือไม่ โดยวิเคราะห์จากไทม์ไลน์ของนายศักดิ์สยามฯ ที่เปิดเผยในช่วงแรกที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 กับข้อมูลที่นักข่าวได้ข้อมูลจากแหล่งข่าว พิธีกรข่าวไม่ได้มีการยืนยัน ข้อเท็จจริงว่านายศักดิ์สยามฯ ไปใช้บริการสถานบันเทิงทั้งสองแห่ง ทั้งไม่มีการรายงานข่าวว่านายศักดิ์สยามฯ เป็น ต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ตามที่ร้องทุกข์แต่อย่างใด ดังนั้นการรายงานข่าวพิพาทคดีนี้จึงไม่เป็นความผิดตามที่ร้องทุกข์ ทั้งนี้ตามนัยคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2531 รายละเอียดปรากฏตามแผ่นดีวีดี บันทึกภาพและเสียงรายการเนชั่นทันข่าวค่ำ และคําถอดเทปรายการเนชั่นทันข่าวค่ำ ที่ส่งมาพร้อมหนังสือฉบับนี้
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ขอเรียนต่อ พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ต่อไปว่าการนําเสนอข่าวพิพาทจะไม่เป็นความผิด ตามข้อ 1. และข้อ 2. ข้างต้นแล้ว การที่นายศักดิ์สยามฯ ร้องทุกข์เพื่อให้ดําเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่คดีนี้เป็น ลักษณะการดําเนินคดีเพื่อปิดปากสื่อมวลชนโดยมีจุดมุ่งหมายขัดขวางไม่ให้สื่อมวลชนนําเสนอข่าวที่เกี่ยวกับตนเอง ซึ่งไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย
นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ทราบจากแหล่งข่าว ว่ากองบังคับการตํารวจนครบาล 5 มีหลักฐานไฟล์บันทึกกล้องวงจรปิด (cctv) บริเวณด้านหน้าและภายในสถาน บันเทิงเอมเมอรัลคลับฯ ซึ่งไฟล์กล้องวงจรปิดได้บันทึกผู้ใช้บริการที่เดินทางเข้า-ออกสถานบันเทิงเอมเมอรัลคลับฯ ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2564 ดังนั้นไฟล์บันทึกกล้องวงจรปิดดังกล่าวเป็นวัตถุพยานสําคัญแห่งคดีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1
จึงขอให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ได้โปรดมีคําสั่งให้พนักงานสอบสวนฯ ดําเนินการรวบรวม พยานหลักฐานไฟล์กล้องวงจรปิดเข้ามาในสํานวนคดีนี้โดยด่วน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ปรากฏว่านายศักดิ์ สยามฯ ได้ไปใช้บริการสถานบันเทิงเอมเมอรัลคลับฯ หรือไม่ อันจะเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในการนําเสนอข่าวของ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 และเพื่อประกอบการสั่งคดีต่อไป
โดยในการนี้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานสอบสวนฯ ด้วยแล้ว รายละเอียดปรากฏตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ที่ส่งมา พร้อมหนังสือฉบับนี้
จึงเรียนมาเพื่อขอความเป็นธรรม
ผู้ร้องขอความเป็นธรรม บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) โดยนายฉาย บุนนาค และนายสุภวัฒน์ สงวนงาม กรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทน
เอกสารอ้างอิง:หนังสือร้องขอความเป็นธรรมในการดำเนินคดี

logoline