svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เลขาสมช.ยันไม่มีความคิดล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว ชี้ ถ้ากทม.มีหักหัวคิว ฝ่ายความมั่นคงพร้อมลงมาจัดการ

06 พฤษภาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เลขาฯ สมช." ยันไม่มีความคิคล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว ชี้จะเป็นทางเลือกสุดท้าย เล็งเอาฝ่ายความมั่นคงช่วยกทม.ถ้าพบหักหัวคิวฉีดวัคซีน ตั้งเป้าฉีดในกทม. 6 ล้านคน ภายใน 4 เดือน วันละ 6 หมื่นคน ระบุ พยายามเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวนำร่องภูเก็ต ลั่นไม่เสียเวลาโต้เฟคนิวส์"โทนี่" ศบค.มุ่งให้ข้อมูลที่แท้จริงกับปชช.

วันนี้ (6 พ.ค.) พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงกรณีได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีแนวทางดำเนินการอย่างไร ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะ ผอ.ศบค. มีความห่วงใยประเด็นต่างๆมาโดยตลอด ที่ผ่านมาตนคอยนำเสนอข้อมูล เมื่อมีนโยบายลงมาก็รับไปดำเนินการ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาก็เพื่อให้มีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการ ส่วนที่มีคนเป็นห่วงเรื่องการซ้ำซ้อนนั้น ตนอยู่ในคณะกรรมการต่างๆของศบค. หลายชุดที่คอยดูแลไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อนกัน

กรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า ศบค. ใช้ทหารมารบกับโรคแทนแพทย์ พลเอกณัฐพล กล่าวว่า การดำเนินงานของศบค.มีหลายส่วน ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว อย่างการระวังชายแดนก็เป็นของงานด้านความมั่นคง ด้านที่เกี่ยวกับการแพทย์ก็เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข หน้าที่ที่ตนได้มาก็เพื่อประสารการปฏิบัติ การรักษาโรคและป้องกันการแพร่ระบาดเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อถามถึงการควบคุมการแพร่ระบาดในกทม. พลเอกณัฐพล กล่าวว่า นายกฯ แต่งตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด -19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ขึ้นมา ซึ่งจะวางโครงสร้างไปถึงระดับเขต เพื่อให้ดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้หากถึงวันที่ 14 พ.ค. การระบาดตัวเลขยังเท่าปัจจุบันหรือสูงขึ้นเล็กน้อย ศบค.จะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม พลเอกณัฐพล กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีมาตรการออกมาจะฟังกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งจะวิเคราะห์ว่าสาเหตุมาจากอะไร เมื่อใกล้ครบกำหนด14 วันต้องมาประเมินอีกครั้ง ส่วนจะมีแนวโน้มไปถึงล็อคดาวน์หรือเคอร์ฟิวหรือไม่นั้น เรื่องนี้นายกฯห่วงใยมากให้นโยบายศบค.พิจารณามาตรการอย่างรอบคอบให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ดังนั้นมาตรการล็อคดาวน์หรือเคอร์ฟิวจะเป็นมาตรการสุดท้ายหากไม่สามารถหยุดยั้งได้จริงๆ เบื้องต้นไม่มีความคิดถึงเรื่องนี้

พลเอกณัฐพล กล่าวถึงกรณีการเฝ้าระวังตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันโควิดสายพันธุ์บราซิลและแอฟริกา รวมถึงที่พบในสถานกักกัน ว่า นายกฯ ได้เน้นย้ำฝ่ายความมั่นคงและมหาดไทยในการเฝ้าระวังพื้นที่ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีการลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย หรือจะเข้ามาอย่างถูกกฎหมายก็ตาม ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรอง ขณะที่ในกรณีสถานกักกันแม้จะมีการขยายเวลากักตัวเป็น 14 วันเช่นเดิมแล้ว แต่ในส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จะมีมาตรการติดตามหลังออกจากสถานกักกันแล้ว พร้อมขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงสัมผัสคนอื่นอีกอย่างน้อย14 วัน ส่วนความเป็นไปได้ในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยนำร่องภูเก็ตวันที่ 1 ก.ค. ยังสามารถดำเนินการได้หรือไม่นั้น ถ้าให้ตอบว่าเป็นไปได้หรือไม่ ศบค.จะพยายามทำให้เป็นไปได้ แต่ต้อง มีการประเมินสถานการณ์ในห้วงเวลานั้นอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันนายกฯ ให้นโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับพื้นที่แพร่ระบาดและพื้นที่เศรษฐกิจเป็นอันดับแรก เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวมีความพร้อม เช่น ภูเก็ต สมุยและพัทยา

เมื่อถามว่า การปิดสถานที่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัดจะมีการปิดต่อเนื่องจนถึงสิ้นเดือนหรือไม่ และเคอร์ฟิวจำเป็นหรือยัง เลขาฯ สมช. กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องฟังสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักว่า จะมีความเห็นอย่างไรหลังมีการสอบสวนโรคแล้ว ซึ่งในทุกวันก็จะมีการชี้แจงให้ทราบว่า แต่ละช่วงเวลามีสาเหตุการแพร่ระบาดจากอะไรบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นกระทรวงสาธารณสุขจะนำไปวิเคราะห์ว่าเมื่อครบ 14 วันแล้วจะทำอย่างไรต่อไป

พลเอกณัฐพล กล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนในชุมนุมคลองเตย ที่มีปัญหาเกี่ยวกับผู้นำชุมชนที่เป็นหัวคะแนนของนักการเมืองจัดลำดับคิว ว่า ได้รับทราบข้อมูลในลักษณะนี้แล้วและได้สอบถามไปยังหน่วยงานในพื้นที่ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น อีกทั้งเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ศปก.ศบค. ได้เน้นย้ำ หน่วยงานในพื้นที่ เขต และหน่วยงานสาธารณสุข ให้ดูแลในเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยให้มองด้านความเสี่ยงการติดเชื้อเป็นหลัก พร้อมกำชับว่าอย่าให้มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ถ้ามีอีกก็จะให้หน่วยงานด้านความมั่นคงไปช่วยสนับสนุนในการดำเนินการ ส่วนแผนการฉัดวัคซีนในพื้นที่สีแดงเข้มนอกจากกลุ่มเสี่ยงแล้ว จำเป็นต้องฉีดให้คนหนุ่มสาวด้วยหรือไม่นั้น เรื่องนี้นายกฯ สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้(5 พ.ค.) โดยให้นโยบายกระทรวงสาธารณสุขว่าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้กับคนกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งคนวัยทำงานด้วย ไม่ใช่แค่เฉพาะคนมีอายุ 60 ปีขึ้นไปหรือคนมีโรคประจำตัว เพราะปัจจุบันมีพื้นที่เสี่ยงและประชาชนทั่วไปมีความเสี่ยง นายกฯ จึงให้สาธารณสุขพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดสรรให้คนกลุ่มอื่นด้วย

เมื่อถามว่า การฉีดวัคซีนในกทม.ตั้งเป้าจะฉีดให้ได้ยอดเท่าไหร่ ภายในเมื่อไหร่ พลเอกณัฐพล กล่าวว่า เป็นนโยบายนายกฯ ว่า ต้องมีการฉีดวัคซีนให้คนไทย 50 ล้านคนภายใน 1 ปี ถ้านับจากนี้เหลือเวลา 8 เดือน ดังนั้นศบค.วางแผนว่า 4 เดือนแรกควรฉีดให้ได้เข็มแรก โดยในกทม.มีประชากรของกทม.และประชากรแฝง เมื่อคิดแล้วคาดว่าควรฉีดให้ได้ 6 ล้านคน ภายในเวลา 4 เดือน หรือฉีดให้ได้วันละ 60,000 คน โดยได้ให้กรอบนี้กทม. เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนใน 50 เขตกำหนดจุดฉีดวัคซีนได้กี่จุด

"นายกฯ ฝากความห่วงใยถึงประชาชนในการแพร่ระบาดในระลอกนี้ เพราะมีการระบาดในกลุ่มคนทำงานและคนทำกิจกรรมในสังคม นายกฯ จึงมีความห่วงใยเป็นอย่างมาก และเป็นการติดเชื้อภายในครอบครัว จึงขอให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังอย่างเข้มงวดในช่วงนี้ โดยนายกฯ ให้นโยบายกระทรวงสาธารณสุขเร่งรัด จัดหาวัคซีนให้รวดเร็วยิ่งขึ้นและเร่งรัดฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ซึ่งในปลายเดือนพ.ค และมิ.ย.นี้ วัคซีนจะเข้ามาอีกจำนวนมาก"เลขาฯ สมช. กล่าว

พลเอกณัฐพล ยังกล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและฝ่ายการเมืองออกมาให้ข้อมูลเรื่องวัคซีนไฟเซอร์ ที่ล่าสุดทั้งองค์การอาหารและยา(อย.)และบริษัทไฟเซอร์เองก็ออกมายืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง ว่า เราจะไม่มาเสียเวลากับข่าวที่ไม่เป็นความจริง และพยายามสร้างการรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงให้กับประชาชน โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมาการแถลงของศบค. จะเชิญหมอและผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัคซีนมาพูดให้ประชาชนรับทราบและย้ำว่าศบค.พยายามให้ข้อมูลที่แท้จริงกับประชาชนเป็นหลัก

logoline