svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

การศึกษาพบ ‘หายป่วยโควิด-19’ ยังเสี่ยงเสียชีวิต-ป่วยร้ายแรง

23 เมษายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะนักวิจัยจากโรงเรียนแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเมืองเซนต์ลูอิสของสหรัฐฯ พบผู้รอดชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล มีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้นในระยะ 6 เดือน หลังมีผลตรวจโรคเป็นบวก

คณะนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลสาธารณสุขระดับชาติของกระทรวงการทหารผ่านศึก ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในสำนักบริหารสุขภาพทหารผ่านศึก (VHA) ที่ไม่ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 73,435 ราย โดยนำมาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคโควิด-19 และไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 5 ล้านราย การศึกษาเก็บข้อมูลของทหารผ่านศึกเพศชายเป็นหลักด้วยสัดส่วนเกือบร้อยละ 88 และมีผู้ป่วยเพศหญิง 8,880 ราย
การศึกษาพบว่าหลังผู้ป่วยรอดชีวิตจากโรคโควิด-19 ซึ่งส่วนมากหลังจากป่วยแล้ว 30 วัน พวกเขามีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าประชาชนทั่วไปเกือบร้อยละ 60 ในช่วง 6 เดือนให้หลัง โดยสัดส่วนการเสียชีวิตส่วนเกินในหมู่ผู้รอดชีวิตจากโรคโควิด-19 หลังหายป่วยนาน 6 เดือน อยู่ที่ 8 รายต่อ 1,000 ราย ส่วนกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลและรอดชีวิตหลังติดเชื้ออย่างน้อย 30 วัน มีสัดส่วนการเสียชีวิตส่วนเกินในระยะ 6 เดือนหลัง อยู่ที่ 29 รายต่อ 1,000 ราย

การศึกษาพบ ‘หายป่วยโควิด-19’ ยังเสี่ยงเสียชีวิต-ป่วยร้ายแรง




บทวิเคราะห์ระบุว่าหมู่ผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล กลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ โดยผู้รอดชีวิตจากโรคโควิด-19 เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ราวร้อยละ 50 ด้วยสัดส่วนการเสียชีวิตส่วนเกินในระยะ 6 เดือนราว 29 รายต่อ 1,000 ราย นอกจากนี้ผู้รอดชีวิตจากโรคโควิด-19 ยังเสี่ยงประสบปัญหาทางการแพทย์ในระยะยาวมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
คณะนักวิจัยพบว่าความเสี่ยงทางสุขภาพหลังรอดชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นตามระดับความร้ายแรงของอาการป่วย โดยกลุ่มผู้ป่วยหนักเสี่ยงต่อภาวะโควิดระยะยาว (long COVID) และการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น
เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบระยะยาวของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง คณะนักวิจัยศึกษาข้อมูลของสำนักบริหารฯ เพื่อจัดทำการวิเคราะห์แยกของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลรวม 13,654 ราย และนำมาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 13,997 ราย โดยผู้ป่วยทุกคนรอดชีวิตอย่างน้อย 30 วันหลังเข้ารับการรักษา และบทวิเคราะห์ครอบคลุมข้อมูลการติดตามอาการ 6 เดือนใหัหลัง
คณะนักวิจัยยืนยันว่าแม้โดยเริ่มแรกแล้ว โรคโควิด-19 จะเป็นเชื้อไวรัสที่โจมตีระบบทางเดินหายใจ แต่ภาวะลองโควิดสามารถส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะเกือบทุกส่วนของร่างกาย
สำหรับบทวิเคราะห์ในอนาคตที่จะยังใช้ข้อมูลชุดเดิมนั้น คณะนักวิจัยจะวิเคราะห์สัดส่วนการเสียชีวิตของผู้ป่วยสัมพันธ์กับช่วงวัย เชื้อชาติ และเพศหรือไม่ เพื่อทำความเข้าใจภัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้มีภาวะลองโควิดยิ่งขึ้น โดยผลการศึกษาข้างต้นได้รับการเผยแพร่บนวารสารเนเจอร์ (Nature) ทางออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสบดี (22 เม.ย.) ที่ผ่านมา

logoline