svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กองทัพเตรียม รพ.สนาม รับมือโควิดระบาด

09 เมษายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทุกเหล่าทัพเตรียมโรงพยาบาลสนาม ระยะที่ 1 จำนวน 2,220 เตียง ในพื้นที่โล่ง ห่างไกลชุมชน รับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่กองทัพอากาศเตรียมไว้กว่า 600 เตียง

กองทัพบก ได้เตรียมความพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ทั่วประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด โดยโรงพยาบาลสนามระยะที่ 1 ใน 12 พื้นที่ รวม 2,220 เตียง พิจารณาจัดตั้งในพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ห่างไกลจากแหล่งชุมชน อาทิ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. จำนวน 200 นาย  กรมพลาธิการทหารบก จ.นนทบุรี 50 เตียง ค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหารเขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี 300 เตียง กรมการทหารช่าง จ.ราชบุรี 740 เตียง และกองพันทหารเสนารักษ์ในทุกกองทัพภาค อีก 930 เตียง ซึ่งเป็นการนำศักยภาพของกองทัพ ทั้งด้านบุคลากร ยานพาหนะและสิ่งอุปกรณ์ เตียงสนาม พร้อมเครื่องนอน หมอนมุ้ง ในการจัดการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ 
ทั้งนี้ โรงพยาบาลค่ายในสังกัดกองทัพบกทั้ง 37 แห่ง ก็ได้สนับสนุนสาธารณสุขในพื้นที่ บริการคัดกรอง ดูแลรักษาประชาชน รวมทั้งสร้างการรับรู้ ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนได้ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม ลดการแพร่กระจายเชื้อไปในพื้นที่ต่างๆ อีกทางหนึ่งด้วย ขณะที่ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก เดินทางไปตรวจความพร้อมการเตรียมการโรงพยาบาลสนาม ที่กรมพลาธิการทหารบก และกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 โดยย้ำว่า กองทัพบกมีความพร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนในการดูแลประชาชน ซึ่งได้เตรียมวางแผนมาตั้งแต่แรกเริ่มที่พบการระบาดในประเทศ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อสามารถรับมือต่อสถานการณ์ บริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที และเป็นที่พึ่งของประชาชน
ในส่วนของกองทัพอากาศ เตรียมพื้นที่โรงพยาบาลสีกัน 50 เตียง อาคารฝึกและทดสอบสมรรถภาพและอาคารรับรอง ทอ.5 กรมสวัสดิการทหารอากาศ 156 เตียง สนามกีฬาธูปะเตมีย์ 90 เตียง โรงเรียนการบิน กำแพงแสน จ.นครปฐม 340 เตียง
ด้าน่กองทัพเรือ จัดเตรียมโรงพยาบาล สถานพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม เพิ่มเติมเพื่อรองรับการแพร่ระบาด ประกอบด้วย (รพ.หลัก จำนวน 50 เตียง รพ.เฉพาะโรค 90 เตียง)
1.โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นโรงพยาบาลหลัก สามารถให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มี่ผู้ป่วยวิกฤต ห้องแรงดันลบ หอผู้ป่วยรวม และห้องแยก  มีขีดความสามารถในการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษา ตั้งแต่อาการเล็กน้อย จนถึงขั้นวิกฤติ
2. ตั้งโรงพยาบาลเฉพาะโรค ได้แก่ โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ และ โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ มีขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย โดยเน้นในการดูแลในส่วนของกำลังพลกองทัพเรือเป็นหลัก
3.ให้จัดตั้งคลินิก โรคระบบทางเดินหายใจ ในพื้นที่ หน่วยแพทย์ปฐมภูมิ ที่มีนายแพทย์ปฏิบัติงาน
4.จัดตั้งพื้นที่ เฝ้าระวัง ควบคุมโรค สำหรับกำลังพลกองทัพเรือ ประกอบด้วย

  • พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล /ใช้พื้นที่ สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
  • พื้นที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี /ใช้พื้นที่ อาคารรับรองของ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
  • พื้นที่จังหวัดจันทบุรี และตราด /ใช้พื้นที่ กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ค่ายตากสิน
  • พื้นที่จังหวัดสงขลา /ใช้พื้นที่ ฐานทัพเรือสงขลา
  • พื้นที่จังหวัดนราธิวาส /ใช้พื้นที่ ค่ายจุฬาภรณ์
  • พื้นที่จังหวัดพังงา และภูเก็ต ใช้พื้นที่ ฐานทัพเรือพังงา

  • 5.จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จำนวหนึ่งให้การสนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุข จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ประกอบด้วย
  • ที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง
  • ที่ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
  • ที่สนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี

  • และยังให้จัดตั้งคลินิกให้บริการวัคซีน โควิด ให้กับกำลังพล และประชาชนทั่วไป มีการจัดทีมสอบสวนโรค เมื่อพบผู้ป่วยต้องสงสัยในพื้นที่ที่กองทัพเรือรับผิดขอบ และให้มีการจัดทีมคัดกรอง และตรวจ เมื่อได้รับการประสานให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมกับหน่วยงานภายนอก

    logoline