svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญชง 4 ข้อเสนอแก้ไขรายมาตรา ขอส.ว.อย่าส่งตีความกม.ประชามติ

23 มีนาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประกาศจุดยืน 4 ข้อผลักดันรธน.ฉบับใหม่ หนุนแก้รายมาตรา เตือนส.ว.ยุติการส่งตีความกฎหมายประชามติ ชี้หาก พ.ร.บ.ประชามติตกไป ทำให้การเมืองถึงทางตันรัฐบาลต้องรับผิดชอบ

วัยนี้ (23 มี.ค.) ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยจัดประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์การเมือง และการดำเนินการสู่รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ารัฐบาล ภาควิชาการ และภาคประชาชนเข้าร่วม อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายโภคิน พลกุล จากกลุ่มสร้างไทย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายนิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายโคทม อารียา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหารภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ร่วมประชุม

จากนั้นเวลา 16.00 น. นายอนุสรณ์ ธรรมใจ แถลงว่า ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญฯ ประเมินสถานการณ์หลังจากที่รัฐสภาไม่เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการเพิ่มหมวด 15/1 โดยมีความเห็นว่า 1.ภาคีฯมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการที่จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และขอให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาล และรัฐสภา ร่วมมือกันเพื่อดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว 2.ขอให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล และรัฐสภา ร่วมกันดำเนินการเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติถามประชาชนในเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3.คำถามที่จะให้ประชาชนให้ความเห็นที่จะลงประชามติ อาจเป็นดังนี้ ท่านประสงค์ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่ 4.การที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มองค์กรประชาธิปไตย ดำเนินการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ย่อมสามารถทำได้ และพึงได้รับการสนับสนุนจากสังคม โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจ อาทิ การแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ภาคีฯยังยืนยันในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มั่นคง เข็มแข็ง ก้าวหน้า แต่จากสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ยังมีการวางกับดักให้มีการสืบทอดอำนาจอย่างต่อเนื่อง เราจึงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีส.ว.จำนวนหนึ่งเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า กฎหมายประชามติเป็นกฎหมายเดียวในขณะนี้ที่เหลืออยู่ และเป็นความหวังของประชาชน ในการที่จะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า หากรัฐสภาต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ต้องถามประชาชนก่อน ว่าประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ แต่คนกลุ่มหนึ่งพยายามทำให้กฎหมายประชามติตกไป โดยการหยิบยกประเด็นดังกล่าวไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญอีกเหมือนกับที่ทำกับร่างแก้ไขรัฐธรรมมนูญ

"วันนี้ยังเป็นขั้นตอนในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ที่จะกลับไปปรับปรุงแก้ไขตั้งแต่มาตรา 10 ถึงมาตรา 67 ผมเชื่อว่ากมธ.จะปรับปรุงให้สอดรับกับมาตรา 9 และสอดรับกับรัฐธรรมนูญ ผมจึงอยากให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนมากกว่ามาขัดแข้งขัดขาให้กฎหมายดังกล่าวตกไป กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นกฎหมายปฏิรูปจึงเป็นกฎหมายสำคัญ หากคว่ำหรือล้มไป รัฐบาลต้องรับผิดชอบโดยการลาออกหรือยุบสภา" นายสมชัย กล่าว

เมื่อถามว่า หากนายกฯตัดสินใจยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ทำให้รัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ไข นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เชื่อว่าส.ว.จำนวนไม่น้อยที่เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และขณะนี้มีกระแส และเสียงเรียกร้องจากประชาชน จึงเชื่อว่าจะมีผลต่อการตัดสินของส.ว.ในอนาคต หากมีความจำเป็นต้องเลือกนายกฯใหม่ด้วยรัฐธรรมนูญเดิม แม้รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจนายกฯยุบสภาได้ แต่ก็เป็นจิตสำนึกของส.ว.ในฐานะที่เคยเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ต้องมีสำนึกแม้ คสช.จะตั้งให้ท่านเป็น ส.ว. แต่การตัดสินใจต้องทำเพื่อประโยชน์ประชาชน

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าหากอยากยุติการสืบทอดอำนาจต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ รวมทั้งความพยายามของ ส.ว.ที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความร่วม พ.ร.บ.ประชามตินั้น ก่อนหน้านี้ผู้มีอำนาจก็ได้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว วันนี้ทำท่าจะขัดขวางการทำประชามติอีก ถือว่าลุแก่อำนาจ จะทำให้การเมืองเดินไปสู่ทางตัน ซึ่งทั้งพรคก้าวไกลและภาคส่วนต่างๆไม่ปรารถนา ดังนั้นเราต้องช่วยกันอย่าให้สถานการณืเดินไปสู่ทางตัน

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า จากการชุมนุมที่ล่าสุดเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม ส่วนตัวมองว่าไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้โมเดล 6 ต.ค.2519 เพราะการต่อสู้ของประชาชนเป็นไปอย่างสันติ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ดังนั้นอย่าใช้กลเกมสร้างสถานการณ์ความรุนแรงปราบปรามประชาชน เราไม่อยากให้ประเทศเป็นแบบพม่า ทั้งนี้ยืนยันจะสู้ทุกรูปแบบอย่างสันติวิธีและเป็นไปตามกฎหมาย ถึงแม้จะแพ้ทางนิติศาสตร์ก็จะใช้มิติทางรัฐศาสตร์มาช่วย

logoline