svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

อนาคตของประเทศกับการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

24 มีนาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อพูดถึง ระบบ ววน. หรือ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า สามส่วนนี้แตกต่างกันอย่างไร แล้วการขับเคลื่อนระบบจะช่วยพัฒนาประเทศได้แค่ไหน ปัจจัยอะไรที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ให้กับสังคม วันนี้เรามีประเด็นที่เป็นประโยชน์กับสังคมผ่านมุมมองของ ดร.ณิรวัตน์ ธรรมจักร์ รักษาการ ผู้อำนวยการ กลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จาก สกสว.

ดร.ณิรวัตน์ ได้กล่าวว่า ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สัมพันธ์กันหมด อธิบายง่าย ๆ เหมือน ไก่ กับ ไข่ ถ้าวิทยาศาสตร์เข้มแข็ง ก็ทำให้วิจัยและนวัตกรรมเข้มแข็งไปด้วย ขณะเดียวกันถ้าวิจัยและนวัตกรรมเข้มแข็งก็ทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้มแข็งไปด้วยเช่นกัน แต่ถ้าพูดถึงกลไกการสนับสนุนงบประมาณที่เป็นบทบาทของ สกสว. ตั้งแต่กองทุน ววน. ขึ้นมา เราจำเป็นต้องแยกให้ชัดว่าวิทยาศาสตร์ต่างจากวิจัยตรงไหน เพราะไม่อย่างนั้นการสนับสนุนของเราจะไม่มีเป้าหมาย
ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนางานวิจัยก็มีมาตลอด ทั้งวิจัยด้านเกษตร วิจัยด้านสังคม หรือวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน แต่ถ้าพูดถึงวิทยาศาสตร์ เราจะเน้นเป้าหมายใน 2 ด้าน
ด้านที่ 1 คือการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์
ด้านที่ 2 คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนงานวิจัย และการให้บริการเทคโนโลยี
ซึ่งทั้ง 2 เป้าหมายจะทำให้จำกัดขอบเขตกิจกรรมออกมาได้ ได้แก่ การพัฒนากำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์ เราอยากให้ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์เยอะกว่านี้ แต่ยังเจอปัญหาว่า เด็กเก่ง ๆ ไม่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ หรือว่าชอบเรียนแต่ว่าสุดท้ายก็ไม่ได้อยากมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ กลายเป็นว่าบุคลากรกลุ่มนี้มีน้อย ก็ต้องทำทั้งระบบให้เห็นภาพว่าการที่จบมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ มีที่ยืนตรงไหนในสังคม เพื่อให้ค่านิยมเปลี่ยน หรือถ้าไม่จบมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่จบมาเป็นนักวิจัย ทุกคนก็ควรมีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ หรือคิดแบบ Critical Thinking ก็คือการใช้เหตุผลคิดวิเคราะห์ปัญหา ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยได้คือ การสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพราะว่าหลาย ๆ อย่างที่สื่อบ้านเรานำเสนอ หลายครั้งก็อาจจะไม่เน้นข้อเท็จจริงหรือมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับเท่าที่ควร ไปเน้นเรื่องความเชื่อเยอะกว่า ยกตัวอย่างเช่น ข่าวแปลก ๆ ประเภท วัว 2 หัว 3 ขา ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วย มีคำอธิบายในเชิงของ Genetic หรือทางพันธุกรรม ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้กับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ
รวมถึงปรากฏการณ์ ลมหอบ ฝนตกหนัก หรืออะไรที่มันไม่ปกติ คนบางส่วนก็ยังคิดว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มันเป็นกลไกวิทยาศาสตร์ เริ่มมีการสะสมของก้อนเมฆ และความหนาแน่นของละอองน้ำที่มากพอ รวมทั้งความกดอากาศ คือทุกอย่างมันมีเหตุปัจจัยที่เกิดจากการอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้หมดเลย"เพราะฉะนั้นการสื่อสารคือต้องให้ทุกคนเข้าถึงเหตุผลทางด้านวิทยาศาสตร์ให้ได้มากที่สุด"

อนาคตของประเทศกับการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ยกตัวอย่างของต่างประเทศ ที่เคยมีเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดที่กรีนแลนด์ เกิดเป็น Smog หรือฝุ่นภูเขาไฟปกคลุมอยู่เต็มท้องฟ้าทำให้เครื่องบินขึ้นบินไม่ได้ คนเริ่มไม่พอใจที่ทุกอย่างผิดแผน ต้องติดอยู่ในสนามบิน เขาตั้งคำถามว่าทำไมถึงขึ้นบินไม่ได้ ทัศนวิสัยมันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น ยังมองเห็นอาคารที่ไกลออกไป สิ่งที่สื่อนอกอย่าง BBC ทำคือ เขา Quick Contact ไปหาคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ๆ โดยเฉพาะ เขาสามารถหาได้เลยว่าใครเชี่ยวชาญเรื่องฝุ่นภูเขาไฟ ใครเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องยนต์ของเครื่องบิน เขาก็โทรไปถาม หรือไปที่แล็บ ทำการทดลองให้ดูเลยว่าทำไมถึงขึ้นบินไม่ได้ แล้วก็ทำกราฟิกอธิบายออกมาด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ คนที่ดูข่าวก็จะเข้าใจทันที ต่อให้เครื่องบินอนุญาตให้บินขึ้นก็คงไม่กล้าขึ้น และช่องก็ยังติดต่อไปที่กรมอุตุวิทยา ว่าฝุ่นจะหมดเมื่อไหร่ ให้คนได้วางแผนถูก เราจะเห็นว่าการตัดสินใจทุกอย่างในชีวิตมันมีวิทยาศาสตร์หนุนหลังอยู่หมดเลย
ประเทศไทยเราจะไปถึงขั้นนั้นได้อย่างไร?
ต้องรู้ใครคือผู้รู้จริงในด้านไหน ซึ่ง สกสว. มีความได้เปรียบตรงนี้ ที่ทำงานกับนักวิจัยมานาน เรามี Data Base ว่าใครเชี่ยวชาญเรื่องอะไร เราอาจจะเริ่มจากตรงนี้ก่อน ยกตัวอย่างเรื่อง วัว 2 หัว 3 ขา เราโทรไปหานักพันธุกรรมวิทยาได้ไหม ช่วยไปออกรายการข่าวอธิบายถึงเหตุผลว่ามันเกิดขึ้นได้ ซึ่งรูปแบบเองก็สำคัญ ไม่ใช่เอานักวิจัยไปนั่งพูดข้อมูลอย่างเดียว คนก็อาจจะไม่อยากฟัง มันจะต้องมีรูปภาพ มีกราฟิก สื่อภาพออกมายังไงให้สามารถเข้าใจง่าย วนกลับมาที่ต้องสร้างนักวิทยาศาสตร์ หรือคนที่มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์เยอะ ๆ แล้วให้ไปอยู่ในทุกวิชาชีพ และเราต้องมี Facility พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เยอะ ๆ เพื่อจะสนับสนุนความก้าวหน้าของประเทศให้เกิดขึ้น จนสุดท้ายเป็นสังคมไทยที่มีฐานความรู้และมีวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งเรื่องของการพัฒนาความตระหนักรู้ทางวิทยาศาสตร์ อาจจะอาศัยหน่วย สกสว. อย่างเดียวไม่ได้ ส่วนที่ สกสว. ทำได้เลยคือการสนับสนุนกองทุน แต่การสร้างความตระหนักรู้ก็ต้องอาศัยองค์กรอื่นที่เป็นคอมมูนิตี้ช่วยกับเราด้วย ยกตัวอย่างเช่น อพวช. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ก็มีพิพิธภัณฑ์ให้เด็กและประชาชนทั่วไปเข้าไปเรียนรู้ นี่ก็น่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ทำให้คนเข้าถึง แต่ก็อาจจะต้องมี Movement ที่มากกว่าการตั้งรับให้คนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อาจจะต้องมีการทำรายการที่เข้าถึงประชาชนเยอะมากกว่านี้ไหม หรือว่า สกสว. เองก็จะต้องมาทำมิติของสื่อมากขึ้นหรือเปล่า เพราะสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ สื่อ อาจจะต้องมีแอร์ไทม์ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากขึ้น เราสามารถสอดแทรกประเด็นวิทยาศาสตร์เข้าไปได้หมด อย่างหนังหรือละครก็สามารถสอดแทรกเข้าไปได้ เพราะวิทยาศาสตร์มันอยู่ในประเด็นรอบ ๆ ตัวเรา พยายามดึงออกมาให้เกี่ยวข้องกับชีวิตคนมากขึ้น

อนาคตของประเทศกับการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อีกส่วนคือ การเพิ่มความเข้มแข็งให้กับโครงสร้างพื้นฐานงานวิจัยและการให้บริการเทคโนโลยี เวลาเราดูสื่อต่างประเทศ จะเห็นข่าวนาซ่า เห็นแล็บ เห็นการทดลอง เรามองเห็นว่านี่คือความล้ำหน้าทางวิทยาการของประเทศนั้น ๆ แล้วกลับมามองที่สื่อบ้านเราก็ยังไม่ค่อยมี คนยังไม่ค่อยรู้ว่าเรามี Facility หรือสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านวิทยาศาสตร์มากพอที่ทำให้จับต้องได้ ทั้งที่เราก็มี สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นเรื่องของการใช้อนุภาคมากำเนิดแสง แล้วก็นำแสงมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัย มี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ทำเรื่องหอดูดาว ศึกษาเรื่องของปรากฏการณ์บนท้องฟ้า มีสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ทำเรื่องของเตาปฏิกรณ์ ใช้รังสีในการพัฒนางานวิจัย มีอีกหลายอย่างแต่คนไม่ค่อยรู้จัก การให้บริการของเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้แพร่หลายถึงขั้นสร้างความรู้ให้กับประชาชน หรือ เริ่มจากนักวิจัยที่ทำในด้านต่าง ๆ เช่น วัสดุศาสตร์ การแพทย์ การเกษตร วันนี้เขารู้จักซินโครตรอนแล้วหรือยัง เรายังไม่ต้องพูดถึงชาวบ้านทั่วไปว่าเขาจะมารู้จักซินโครตรอน แต่ขอให้นักวิจัยต่าง ๆ ได้เข้าถึง Facility พวกนี้ก่อน ศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่การพัฒนาวิทยาศาสตร์ต้องมาเข้ามาช่วยดูแล รวมถึงเรื่องของ Platform Technology หรือ เทคโนโลยีฐาน
"ถ้าเราจะมองไปที่อนาคต อะไรที่มันจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศเราพัฒนา มันต้องคิดตั้งแต่วันนี้"
เช่น ถ้ามองว่าอนาคต รถ EV หรือรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามาแน่นอน มันมีเทคโนโลยีอะไรที่เป็นฐานที่เราต้องลงทุนและพัฒนา วัสดุที่ใช้ประกอบเป็นรถ EV วันนี้เรามีคนพัฒนาหรือยัง ส่วนประกอบหลายอย่าง เรื่องของขั้วเชื้อเพลิง หรือตัวกักเก็บประจุ ทุกวันนี้เราได้ลงทุนในทิศทางที่มันประกอบไปสู่การขับเคลื่อนหรือยานยนต์ไฟฟ้าได้สำเร็จหรือยัง เพื่อที่อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์วันนี้แต่ตอบโจทย์ใน 10 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการเข้ามาเช็คว่า เราต้องลงทุนกับเทคโนโลยีฐานเรื่องอะไรบ้างเพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นในการสร้างนวัตกรรมในอนาคตอีกเรื่องที่สำคัญมากคือ Technology Transfer หรือ การถ่ายทอดทางเทคโนโลยี ประเทศเรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างเดียวแต่นำไปต่อยอดไม่ได้ ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานมาก ไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า Technology Transfer หรือ Technology Apotion ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ในยุคที่อเมริกาก้าวกระโดดมากในเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรม มีโรงงานถลุงโลหะเหล็ก มีเรื่องของการประกอบรถยนต์ ทุกวันนี้คนญี่ปุ่นก็ทำได้ คนญี่ปุ่นมีโรงถลุงเหล็ก มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีรถยนต์ที่เป็นยี่ห้อของประเทศตัวเอง แปลว่าเขารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาด้วย เขาไม่ได้แค่เอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างเดียว รวมถึงเกาหลีเองก็เห็นว่าเขาก็มีรถ โทรศัพท์ หรือทีวี เป็นของตัวเอง โมเดลพวกนี้มันคือการที่มีเทคโนโลยีเข้ามาแล้วประเทศนั้น ๆ แล้วเก็บมาพัฒนาขึ้นมาเป็น Product ตัวเองได้ ของบ้านเราในวันนี้ยังเป็นรูปแบบที่บริษัทต่างชาติเข้ามาอาศัยพื้นที่เราแค่นั้น ถ้าเราจะพัฒนาประเทศเราต้องรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย นำสิ่งที่เข้ามาทำให้เราพัฒนาต่อได้ เพราะงั้นประเด็นเรื่องของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ก็จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม และนำไปสู่การพัฒนาประเทศในที่สุดสำหรับคนที่สนใจข่าวสารวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี งานวิจัยใหม่ ๆ ของไทย สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ https://www.tsri.or.th/ และทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ สกสว.

logoline