svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ตัวแทนภาคปชช.ร้องกมธ.กม.สอบเหตุการณ์จม."อานนท์"

17 มีนาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตัวแทนภาคประชาชน ยื่นหนังสือร้อง กมธ.กฏหมายฯ ให้ตรวจสอบเหตุการณ์ในการควบคุมตัวผู้ต้องขังแกนนําคณะราษฎรและพวก ตามที่"อานนท์"ยื่นร้องศาล "โรม" รับเรื่องพร้อมให้กำลังใจ ยืนยันว่า 11 ผู้ต้องขังมีสิทธิ์ได้รับการประกันตัว

ตัวแทนภาคประชาชนประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอให้ตรวจสอบเหตุการณ์ในการควบคุมตัวผู้ต้องขัง กรณีแกนนําคณะราษฎรและพวก โดยมี นายรังสิมันต์ โรม โฆษกคณะกรรมาธิการฯ เป็นตัวแทนในการรับหนังสือ

นางสาวทิพอัปสร แก้วมณี ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า ตามที่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า นายอานนท์ นําภา ทนายความและผู้ต้องขังหนึ่งในแกนนํา คณะราษฎร ซึ่งได้เป็นจําเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ยื่นคําแถลงต่อศาลอาญา เมื่อ วันที่ 16 มีนาคม 2564 มีใจความว่าได้มีการพยายามเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในเรือนจําพิเศษซึ่งเป็นผู้ต้องขัง ระหว่างการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวและศาลได้มีหมายขังจําเลยไว้ ณ เรือนจําพิเศษกรุงเทพ กรมราชทัณฑ์ ในยามวิกาล โดยมีความพยายามใช้กําลังจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในปฏิบัติการดังกล่าว รายละเอียดปรากฎตามสําเนาภาพถ่าย คําแถลง เอกสารท้ายคําร้อง

โดยพฤติการณ์ในกรณีดังกล่าวคือเมื่อวันที่ 15 มีนาคม2564 เวลา 21:30 น.กับเวลา23:45 น. ของ และวันที่ 16 มีนาคม 2564 เวลา 00.15 น. กับเวลา 02:30 น. ต่อเนื่องกัน ได้มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ชุดหนึ่งพยายามนําตัวผู้ต้องขังสองราย คือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาและนายภานุพงษ์ จาดนอก ไปควบคุมตัวนอกแดน เมื่อกลางดึกวันที่ 15 มีนาคม 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงเช้ามืดวันที่ 16 มีนาคม 2564 โดยอ้างว่าเป็นการนําตัวไปตรวจหาเชื้อโควิด-19


โดยภายหลังจากที่นายอานนท์ ได้ยื่นคําแถลงต่อศาล อาญาแล้วปรากฎว่าได้มีการเผยแพร่ข่าวสารดังกล่าวไปในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้าง และได้รับการยืนยัน ข้อเท็จจริงจากนายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่าได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจริง ตามวัน เวลาที่ปรากฏในคําแถลงต่อศาลของนายอานนท์

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ากรมราชทัณฑ์ ได้ดําเนินการในการควบคุมผู้ต้องขังกลุ่มราษฎรอย่างไม่เหมาะสมและไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ อาทิเช่น เปลี่ยนย้ายแดนคุมขังโดยไม่มีเหตุอันควรในกรณีนายอานนท์ ที่ถูกย้ายแดนคุมขังทุกวันและกรณีของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกย้ายแดนคุมขังไปอยู่ร่วมกับ นักโทษเด็ดขาดเป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีกรณีการนําตัวนายปิยรัฐ จงเทพ ไปคุมขังเรือนจําธนบุรีอั นเป็นสถานที่อื่นนอกหมายขังของศาล ซึ่งระบุให้นําไปขังเรือนจําพิเศษกรุงเทพ ฯ ซึ่งศาลได้มีคําสั่งให้กรมราชทัณฑ์ ย้ายนายปิยรัฐ ไปคุมขัง ณ เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯตามหมายแล้ว

จากเหตุการณต่างๆที่เกิดขึ้นเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด รู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมากว่าการนําตัวผู้ต้องขังออกจากแดนกลางดึกต่อเนื่อง จนถึงช่วงเช้ามืดนั้น เป็นการปฏิบัติที่ผิดปกติวิสัย เนื่องจากเป็นการกระทําในยามวิกาล อีกทั้งในความพยามยาม ปฏิบัติการนําตัวผู้ต้องขังออกจากแดนในช่วงเวลานั้น มีการนําชุดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พร้อมกระบองและบุคคลใส่ชุดสีน้ำเงินที่ไม่ติดป้ายชื่อ ไม่ระบุสังกัดมาเสริมกําลังด้วย อันเป็นการใช้กําลังพลมากผิดปกติ หากจะอ้างว่าเพื่อจะนําตัวผู้ต้องขังเพียง 2 ราย ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ประกอบกับในระยะนี้มีกระแสข่าวว่า จะมีการทําร้ายร่างกายผู้ต้องขังกลุ่มราษฎรที่ต้องขังอยู่ในเรือนจํา จึงเป็นเหตุให้สงสัยได้ว่าในปฏิบัติการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ต้องการนําตัวผู้ต้องขังกลุ่มราษฎรไปประทุษร้ายตามที่มีข่าวหรือไม่


ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนมีความรู้สึกกังวลใจต่อเหตุการณ์ข้างต้น ว่าในสถานที่คุมขังผู้ต้องขัง ระหว่างพิจารณาคดีนั้น กรมราชทัณฑ์ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในดูแลเรือนจําทั่วประเทศ ได้วางแนว ทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีไว้อย่างไร ได้มีการคํานึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังหรือไม่และได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสองที่บัญญัตว่า "ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้" หรือไม่ ซึ่งเราเห็นการกระทําดังกล่าวนั้นจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการตรวจสอบ ทั้งในการขอเพื่อเป็นหลักประกันว่ากรมราชทัณฑ์ได้ดําเนินการในการดูแลผู้ต้องขังระหว่างหรือก่อนพิจารณาคดีและผู้ต้องโทษโดยคํานึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและโดยเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


ดังนั้นจึงขอร้องเรียนมายังคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ดังนี้
1.) ขอให้กรมราชฑัณฑ์ เปิดภาพจากกล้องวงจรปิดในห้องขังระหว่างเกิดเหตุในคืนดังกล่าวขอให้ คณะกรรมาธิการซักถามไต่สวนถึงข้อเท็จจริงและเหตุอันจําเป็นเร่งด่วนในการดําเนินการดังกล่าวที่ขัดต่อ กฎหมายและระเบียบของกรมราชทัณฑ์

2.) ขอให้คณะกรรมาธิการ เรียกตัวบุคคลเจ้าหน้าที่ ทั้งผู้บังคับบัญชาการปฏิบัติ เจ้าหน้าที่กรม ราชทัณฑ์ที่เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่และบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ในชุดสีน้ําเงินที่ไม่ระบุชื่อและสังกัดที่ปฏิบัติหน้าที่ในคืนดังกล่าว มาทําการซักถามข้อเท็จจริงให้สิ้นสงสัย

3.) ขอให้คณะกรรมาธิการ อภิปรายหารือ และจัดทํารายงานข้อเสนอแนะในการทบทวน แนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วย
3.1.) การเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาในยามวิกาล โดยไม่มีเหตุจําเป็นเร่งด่วน
3.2.) การใช้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ ที่ไม่ระบุชื่อและสังกัด ร่วมปฏิบัติการในคืนดังกล่าว
3.3.) กรณีเจ้าหน้าที่ ที่อยู่ในเวรปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยปะละเลยให้เกิดเหตุที่นําไปสู่ข้อสงสัยดังกล่าว
3.4.) แนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ในกรณีการเปลี่ยนย้ายแดนคุมขังโดยไม่มีเหตุอันควร เช่น กรณีนายอานนท์ ที่ถูกย้ายแดนคุมขังทุกวัน และกรณีของนายพริษฐ์ ที่ถูก ย้ายแดนคุมขังไปอยู่ร่วมกับนักโทษเด็ดขาด เป็นต้น
3.5.) สิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องขัง ที่ควรได้รับอิสระอย่างเต็มที่ ในการหารือข้อต่อสู้กับ ทนายความ โดยทนายความที่ได้รับอนุญาต หากประสงค์ที่จะสงวนข้อความที่จะทําการหารือกับผู้ต้องขังเป็น ความลับ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบ และให้เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุม ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในระยะที่ไม่สามารถได้ยิน ข้อความการสนทนาได้
3.6.) สิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องขัง ที่ควรจะได้อยู่ร่วมในแดนเดียวกันกับผู้ต้องขังในสํานวนคดี เดียวกัน เพื่อให้สามารถปรึกษาข้อต่อสู้ทางคดีได้อย่างเป็นธรรม
3.7.) พิจารณาข้อหารือ ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนขอเสนอมาตรการความปลอดภัย ให้ผู้ต้องขัง ทุกรายได้อยู่ในพื้นที่ ที่มีมาตรการความปลอดภัย มีกล้องวงจรปิดที่ทนายสามารถสอดส่องดูแลความปลอดภัย ของผู้ต้องขังได้ตลอดเวลา
3.8.) พิจารณาข้อหารือ ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนขอเสนอมาตรการความปลอดภัย ในกรณีที่มี ความจําเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ควรมีกรจัดพื้นที่เฉพาะ ภายใต้มาตรการความปลอดภัยสูงสุด


ขณะเดียวกันนายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นจะรับหนังสือที่เครือข่ายประชาชนให้ไว้ไปหารือกับคณะกรรมาธิการฯ รวมถึงประธานคณะกรรมการจะลงพื้นที่เรือนจำ ไปหารือกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ พร้อมยืนยันว่า 11 คนที่ถูกขังมีสิทธิ์จะได้รับการประกันตัว พร้อมทั้งยังให้กำลังใจกับครอบครัวของผู้ต้องขังทั้ง 11 คนด้วย

logoline