svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ฝ่ายค้านเดินหน้าโหวตวาระ 3 ห่วงรธน.แท้งตั้งแต่ประชามติรอบแรก

16 มีนาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ฝ่ายค้าน" ยัน เดินหน้าโหวตวาระ 3 ร่างรธน.แก้ ม.256 และ ตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ ชี้ ดำเนินการตาม ม.256 กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 60 ยอมรับห่วงปมกำหนดให้ผู้ออกเสียงประชามติต้องมีจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เป็นการเปิดช่องให้ล้มการทำประชามติได้โดยง่าย

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน เปิดเผยถึงผลการหารือวิปฝ่ายค้าน โดยมติที่ประชุมยืนยันจุดยืนพรรคฝ่ายค้านเดินหน้าร่วมลงมติวาระ 3 ร่าง รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม แก้มาตรา 256 และเพิ่มหมวดตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างฉบับใหม่ในวันพรุ่งนี้ 17 มีนาคม พร้อมอ้างอิงว่าหากไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยสมบูรณ์อาจจะเป็นการดำเนินการที่บกพร่องตามกฏหมาย


พร้อมยอมรับว่ายังสับสนอยู่ว่าคำวินิจฉัยของศาลจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หากให้เลือกขอเลือกดำเนินการตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ขณะเดียวกันในตอนนี้แต่ละฝ่ายยังตีความของกฎหมายไม่ตรงกัน โดยฝ่ายค้านกล่าวย้ำเข้าใจโดยสุจริตตามหลักวิชาการว่าสามารถเดินหน้ากระบวนการหมดวาระ 3 ได้ ซึ่งหมายถึงการทำประชามติก่อนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลัง มี ส.ส.ร.แล้ว โดยไม่ใช่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ


ซึ่งคาดการณ์แนวทางชี้ขาดของฝ่ายกฎหมายรัฐสภา กรณีการเดินหน้าโหวตวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญ 2 ทางซึ่งหากมีมติว่าสามารถโหวตได้พรรคการเมืองฝ่ายค้านยืนยันจะทำหน้าที่ในการร่วมโหวตให้ความเห็นชอบร่างกฏหมาย หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบก็ต้องดำเนินการตามมาตรา 256 ซึ่งมี 9 อนุมาตรา จากนั้นก็จะพิจารณาว่าจะทำประชามติอย่างไร ซึ่งจะต้องร่วมกันหาข้อสรุป เพราะมาตรา 256 (8) กำหนดไว้ว่าหากจัดทำร่างกฎหมายเสร็จต้องนำไปทำประชามติถามประชาชน


หากฝ่ายกฎหหมายเห็นว่าไม่สามารถที่จะเดินหน้าโหวตได้ ด้วยเพราะคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ คาดว่าอาจจะมีการเสนอถอนวาระนี้ออกในที่ประชุม ซึ่งเมื่อบรรจุระเบียบวาระไปแล้วหากจะถอนก็จะต้องเป็นมติของรัฐสภา ซึ่งหากเป็นแนวทางเช่นนี้วิปฝ่ายค้านจะถกแถลงแสดงท่าทีอย่างเต็มที่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดเตรียมบุคคลอภิปรายแสดงเหตุผลไว้แล้วทุกพรรคฝ่ายค้าน ก่อนจะกล่าวย้ำว่าจะลงมติไม่ถอนวาระการประชุม


และหากผลโหวตฝ่ายค้านแพ้ จากนั้นจะดำเนินการถามทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนเพื่อให้คำตอบต่อสังคมว่าหากถอนวาระออกไปแล้วจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป จะเสนอญัติยกร่างใหม่หรือไม่และใครจะดำเนินการ และจะแก้รายมาตรา หรือจะเสนอให้แก้ทั้งฉบับ


ซึ่งหากจะต้องทำประชามติก่อนไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขแบบรายมาตราหรือการยกร่างฉบับใหม่นั้น รัฐสภาจะใช้อำนาจตามกฏหมายมาตราใด ซึ่งทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือหากศาลรัฐธรรมนูญจะกรุณาชี้แนะเพื่อเป็นประโยชน์ก็จะเป็นพระคุณ จะใช้มาตรา 256(8) หรือ มาตรา 166 ให้ ครม.ดำเนินการ ซึ่งหากไม่มีคำตอบที่ชัดเจนอาจตีความหมายได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งแบบรายมาตราหรือการยกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ถึงทางตัน


ส่วนการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ เนื่องด้วยมีร่างกฎหมายที่ต้องพิจารณา อาจจะไม่ทันกรอบ จึงขอให้รัฐสภาพิจารณาถึงวันที่ 19 มีนาคม ไม่อยากให้รวบรัดปิดประชุมในวันที่ 18 มีนาคม และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยอมรับว่ามีประเด็นที่กังวลใจ ที่กฎหมายกำหนดว่า การทำประชามติ ผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงร้องมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ และต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงประชามติ

เช่นหากผู้มีสิทธิออกเสียง 50 ล้านคน นั้นต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากว่า 25 ล้านคน ถึงจะทำให้การทำประชามตินั้นมีผล โดยการกังวลว่าจะเป็นการเปิดช่อง "ให้ล้มการทำประชามติได้โดยง่าย" โดยเฉพาะการทำประชามติการแก้รัฐธรรมนูญที่อาจมีคนไม่เห็นด้วยแล้วรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้าน ซึ่งฝ่ายค้านจะเสนอให้แก้ไขใหม่ว่าผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงลงประชามติให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง

logoline