svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อ่านสถานการณ์เมียนมาหลังชิงธงตั้ง "รัฐบาลคู่ขนาน"

05 มีนาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แผนการของพรรคเอ็นแอลดีที่จะตั้ง "รัฐบาลชั่วคราว" ขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมา และเมื่อ 2 วันก่อน ก็เพิ่งประกาศตั้งรัฐมนตรี 4 คน 9 ตำแหน่ง จากคณะกรรมการผู้แทนสภาสหภาพเมียนมา ซึ่งเป็นตัวแทนจากสภาสหภาพกว่า 900 คนที่ได้รับเลือกจากประชาชน แต่ถูกกองทัพล้มล้างโดยอ้างการทุจริตเลือกตั้งนั้น

สถานะของรัฐบาลและรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นซ้อนกับสภาบริหารแห่งรัฐ ที่ตั้งโดยกองทัพเมียนมา ถูกขนานนามจากบางฝ่ายว่าเป็น "รัฐบาลพลัดถิ่น" แต่นักวิชาการรัฐศาสตร์หลายคนมองว่า น่าจะเรียกว่าเป็น "รัฐบาลคู่ขนาน" มากกว่า แม้จะไม่ตรงตามความหมายเสียทีเดียวก็ตาม
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า คำว่า "รัฐบาลพลัดถิ่น" โดยนัยยะจะเป็นความเคลื่อนไหวที่อยู่นอกประทเศ ฉะนั้นกรณีการตั้งรัฐบาลของสภาสหภาพเมียนมา ที่มีพรรคเอ็นแอลดีเป็นแกนนำ น่าจะใช้คำว่า "รัฐบาลคู่ขนาน" มากกว่า แต่ก็ยังไม่ตรงตามความหมายเสียทีเดียว เพราะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ ไม่ได้มีอำนาจรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวในขั้นต่อไป อ.ยุทธพร บอกว่า จะมีการเรียกร้องต่อองค์กรระหว่างประเทศ และสหประชาชาติ ให้รับรองรัฐบาลชุดใหม่นี้ ว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามผลการเลือกตั้ง

ส่วนท่าทีของไทยจะวางตัวยากขึ้นหรือไม่ ในฐานะเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกัน และผู้นำประเทศยุคปัจจุบัน ก็ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพเมียนมา รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า ไทยคงเลือกไม่เทคไซด์ หรือเลือกข้างใดข้างหนึ่งอย่างชัดเจน เพราะการเมืองในเมียนมาขณะนี้มีความซับซ้อน รัฐบาลจีนมีสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพเมียนมา ขณะที่ไทยเองก็มีความสัมพันธ์กับจีน รวมถึงท่าทีอาเซียนในฐานะองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค น่าจะไม่มีอะไรมาก เพราะหลักการของอาเซียน คือ ไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกันอยู่แล้ว ฉะนั้นหลังจากนี้ก็ต้องติดตามปฏิกิริยารายประเทศ ว่าจะแสดงท่าทีอย่างไร

อ่านสถานการณ์เมียนมาหลังชิงธงตั้ง "รัฐบาลคู่ขนาน"




ด้าน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักรัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ รัฐบาลที่ตั้งขึ้นค่อนข้างนิยามได้ยากว่าจะเรียกว่าอะไร เนื่องจากรัฐบาลที่กองทัพจัดตั้ง ประชาชนก็ไม่ยอมรับ ยังให้การยอมรับรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดเก่าอยู่ ส่วนรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ คงไม่ใช่ "รัฐบาลพลัดถิ่น" และพรรคเอ็นแอลดี ตลอดจนฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมาก็คงไม่อยากให้มีสถานะเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น เพราะในอีกนัยหนึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับว่าอีกฝ่ายเป็นรัฐบาล แล้วฝ่ายที่ชนะเลือกตั้งมาจัดตั้งรัฐบาลแข่ง

ที่สำคัญ ถ้าใช้คำว่า "พลัดถิ่น" ก็ต้องไปตั้งนอกประทเศ แต่กรณีนี้เป็นการตั้งในประเทศซึ่งเป็นสหพันธรัฐ จึงมองว่าเป็น "รัฐบาลซ้อนรัฐบาล" หรือ "หนึ่งประเทศ 2 รัฐบาล" มากกว่า โดยต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับกันและกัน และอ้างความชอบธรรามว่าตัวเองมีความชขอบธรรม ฝ่ายทหารก็อ้างว่าเป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและตั้งรัฐบาลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่อีกฝ่ายก็อ้างผลการเลือกตั้ง ฉะนั้นถ้ารัฐบาลสทหารไม่ยอม ก็ต้องรบกัน ถือเป็นสงครามชิงความชอบธรรม มากกว่า

ดร.สติธร บอกด้วยว่า หลังจากนี้ต้องจับตาท่าทีนานาชาติ ว่าจะยอมรับรัฐบาลชุดใด เทียบเคียงได้กับกรณีไต้หวันกับจีน อเมริกาให้การรับรองไต้หวัน ให้เป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ แต่จีนให้สถานะเป็นจังหวัดหนึ่งของจีน ฉะนั้น การตั้งรัฐบาลซ้อนรัฐบาลของเอ็นแอลดี ไม่ได้ทำให้จบปัญหาในเมียนมาได้ แต่จะเป็นช่องทางให้ต่างประเทศสามารถแสดงจุดยืนเพิ่ม ทำให้คณะนายทหารที่นำโดย มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ไม่มีความชอบธรรม และไม่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก

ส่วนการแสดงท่าทีของอาเซียนต่อสถานการณ์ในเมียนมานั้น อาจารย์สติธร บอกว่า ค่อนข้างแสดงท่าทียาก เพราะรูปแบบการปกครองของแต่ละประเทศมีความหลากหลาย หากแสดงจุดยืนคัดค้านหรือทักท้วงเมียนมา ก็จะย้อนแย้งกับการปกครองของบางประเทศเอง แม้แต่ไทยก็เพิ่งรัฐประหารมา 2 รอบในห้วงเวลาเพียง 15 ปี

ด้านผู้เชี่ยวชาญงานความมั่นคง วิเคราะห์ว่า การที่เมียนมาส่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาพบปะกับนายกรัฐมนตรีของไทย แสดงให้เห็นว่าเมียนมายังไม่ปิดตาย ที่จะรับฟังความเห็นของมิตรในอาเซียน โดยท่าทีของรัฐบาลทหารหลังจากนี้ หากมีการเปิดช่องทางการพูดคุย คือ ยืนยันว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งจริง และทหารจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ เพื่อยับยั้งความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตเลือกตั้ง ขณะเดียวก็คาดว่าจะรับปากดูแลความปลอดภัยของ อองซานซูจี แต่จะสงวนท่าทีเรื่องการใช้มาตรการเด็ดขาดกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพียงแต่จะให้หลักประกันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็น


อ่านสถานการณ์เมียนมาหลังชิงธงตั้ง "รัฐบาลคู่ขนาน"

สำหรับประเด็นท้าทายของรัฐบาลทหารเมียนมา คือ เสถียรภาพภายในประเทศ โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยที่รอดูท่าที และอาจจะฉวยโอกาสจากความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ เช่น ถ้าเห็นว่าเกิดการจลาจล มีความเป็นไปได้ที่จะผสมโรง เพราะถ้าเกิดความระส่ำระสาย มหาอำนาจอาจแทรกแทรงได้ง่าย เช่น ประกาศรับรองรัฐบาลพลัดถิ่น จากความท้าทายเหล่านี้ จึงประเมินว่ากองทัพเมียนมา จะไม่ผลีผลามใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมเป็นวงกว้าง แต่จะรับมือการชุมนุมไปเรื่อยๆ เพื่อรอดูสถานการณ์

ขณะที่ท่าทีของไทย น่าจะวางตัวลำบากมากถ้ามีการจัดตั้ง "รัฐบาลพลัดถิ่น" หรือ "รัฐบาลคู่ขนาน" ขึ้นมาอย่างเต็มรูปแบบ แม้เบื้องต้นจะไม่ยอมรับ โดยอ้างการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถ้ามีประเทศจำนวนมากให้การรับรอง ไทยจะทำอย่างไร และคงถูกกดดันหนักจากชาติตะวันตกด้วย ซึ่งทางออกของไทย น่าจะต้องประสานกับประเทศอาเซียนอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดท่าทีเดียวกันออกมา ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละชาติกำหนดท่าทีกันเอง

อ่านสถานการณ์เมียนมาหลังชิงธงตั้ง "รัฐบาลคู่ขนาน"

logoline