svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ศาลนัดชี้ขาดอำนาจรัฐสภาแก้ไขรธน. 11 มีนาคมนี้

04 มีนาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้จึงยุติการไต่สวน และนัดแถลงด้วยวาจาลงมติวันที่ 11 มีนาคม เวลา 09.30น. ว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรธน.หรีอไม่

ศาลนัดชี้ขาดอำนาจรัฐสภาแก้ไขรธน. 11 มีนาคมนี้

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256(1) และศาลรัฐธรรมนูญได้รับหนังสือความเห็นจากพยานผู้เชียวชาญ 4 คน คือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต รวมทั้งหนังสือความเห็นของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง และคณะที่ยื่นคำร้องขอส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นแล้ว

ซึ่งศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าแม้คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง( 2) ซึ่งที่ประชุมของรัฐสภามีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยและประธานรัฐสภาส่งเรื่องต่อศาล มิใช่การกระทำของสมาชิกรัฐสภาเป็นรายบุคคล แต่เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาของศาลจึงสั่งรับไว้เพื่อประกอบการพิจารณา


และศาลได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่งและกำหนดนัดด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติในวันที่ 11 มี.ค. 09.30 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญให้ผู้เกี่ยวข้องคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำความเห็นเป็นหนังสือต่อกรณีปัญหาดังกล่าวเสนอต่อศาลเพื่อมาประกอบการวินิจฉัย รวมทั้งคาดจะมีการพิจารณาคำร้องของพรรคฝ่ายค้านที่ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำและความเห็นต่อศาล เป็นข้อมูลรวม 7 หน้า เพื่อยืนยันว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) บัญญัติไว้ชัดเจน ว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ประเด็นที่ทำให้ประธานรัฐสภา ต้องส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นกรณีสมาชิกรัฐสภามีความเห็นต่างกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่ากรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่าง หรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นสามารถทำได้ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2562 ไม่ได้กำหนดให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติเพียงให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็คือการแก้ไขเป็นรายมาตราเท่านั้น

ศาลนัดชี้ขาดอำนาจรัฐสภาแก้ไขรธน. 11 มีนาคมนี้



logoline