สำหรับความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มีมาตราหลักๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 217 ถึง 220 โดยความผิดฐานนี้ ถือเป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดให้มีอัตราโทษสูง เนื่องจากเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น จึงมีบทบัญญัติในมาตรา 220 ว่า แม้แต่การวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเอง ก็ยังเป็นความผิด
โดยมาตรา 220 ระบุว่า "ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท"
ส่วนประเด็นที่เป็นดราม่าว่าเหตุใดจึงมีการระบุโทษของ "แอมมี่" ว่าอาจถึงขั้นประหารชีวิต และมีการไปขยายผลทำไอโอกันต่อว่า แค่เผาพระบรมฉายาลักษณ์ มีโทษถึงประหารชีวิตเชียวหรือ ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่ดราม่ากัน เพราะองค์ประกอบความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ในบางกรณี มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการเผาพระบรมฉายาลักษณ์
ย้อนไปดูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 จะพบว่ากฎหมายกำหนดให้การวางเพลิงเผาทรัพย์ 6 ประเภท มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ได้แก่
1. โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย
2. โรงเรือน เรือ หรือแพอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า
3. โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม
4. โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา
5. สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน หรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ
6. เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ
- นายกฯ รับทราบ วัคซีนทั้งหมด 2.1 ล้านโดส กระจายครบ 77 จังหวัด ฉีดแล้ว 864,840 โดส
- สั่งกักตัว 6 ส.ว.-30 จนท. หลังพบผู้ติดเชื้อร่วมงานแจกอาหาร
- นายกฯ ดีใจออกโซเชียล รัสเซียให้การสนับสนุนวัคซีนสปุตนิกแก่ไทย
สำหรับโทษนั้น กำหนดระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี แล้วแต่ความหนักเบาของความผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้น
จากบทบัญญัติเรื่องการวางเพลิงเผาทรัพย์ 6 ประเภท ถือว่าเป็น "บทหนัก" ของความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ โทษสูงสุดถึงประหารชีวิตนี้ เมื่อดูในรายละเอียด ก็จะพบว่ากฎหมายบัญญัติไว้เพื่่อป้องกันหรือป้องปรามการลอบวางเพลิง ที่จะไปกระทบหรือสร้างความเสียหายให้กับสาธารณะ หรือบุคคลทั่วไป ทรัพย์และสถานที่ต่างๆ ที่กำหนดใน 6 ประเภทนี้ ล้วนเป็นทรัพย์สินสาธารณะ และสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมตัวของประชาชนจำนวนมากทั้งสิ้น
ประเด็น คือ ตำรวจแจ้งข้อหาตามมาตรา 218 กับ "แอมมี่" หรือไม่ เพราะมีแง่มุมที่ต้องตีความเช่นกันว่า การเผาทำลายป้ายที่ใช้ประดับพระบรมฉายาลักษณ์ จัดเป็นโรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ หรือว่าบริเวณที่เผา ถือเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือนที่มีคนอยู่อาศัยหรือไม่ ซึ่งหมายถึงเรือนจำที่มีผู้ต้องขังอยู่เป็นจำนวนมาก ถือเป็นประเด็นที่ตำรวจ อัยการ และศาล จะต้องพิจารณาต่อไป
หากทรัพย์ที่ "แอมมี่" เผา ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 218 ก็จะไปเข้าองค์ประกอบมาตรา 217 คือ ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่ายังไม่นับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ถูกแจ้งข้อหาพร้อมกันจากเหตุการณ์นี้
ความร้ายแรงของพฤติการณ์เผาสถานที่ราชการ สามารถเทียบเคียงได้กับคดีเผาศาลากลางจังหวัดหลายจังหวัดของผู้ชุมนุมกลุ่ม "คนเสื้อแดง" เมื่อปี 2553 ปรากฏว่าคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ เช่น คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยบางคน แล้วลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่จำเลยอีกหลายๆ คน แม้ไม่โดนโทษประหารชีวิต แต่ก็โดนลงโทษสถานหนัก
สะท้อนให้เห็นว่าความผิดในลักษณะเผาสถานที่ราชการ หรือสถานที่สาธารณะ เป็นความผิดที่มีอัตราโทษสูง ในทางกลับกัน หากหลักฐานไม่มีวามชัดเจนมากพอ ศาลก็ยกฟ้องได้เช่นกัน เหมือนคดีเผาศาลากลางอีกหลายๆ จังหวัด ที่ฝ่ายตำรวจและอัยการไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจน อย่างคดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ศาลฎีกาก็ยกฟ้อง เนื่องจากมีอัตราโทษสูง จึงต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน ปราศจากข้อสงสัย