svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ไขปริศนาวางเพลิง "อะไร" โทษหนักถึงขั้นประหาร

04 มีนาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นประเด็นคำถามที่สังคมตั้งข้อสังสัย โดยเฉพาะกับตัวบทกฎหมาย ซึ่งมีอัตราโทษค่อนข้างรุนแรง จากกรณีของนักร้องหนุ่มวงดัง นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ "แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์" ในคดีวางเพลิงหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม

สำหรับความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มีมาตราหลักๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 217 ถึง 220 โดยความผิดฐานนี้ ถือเป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดให้มีอัตราโทษสูง เนื่องจากเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น จึงมีบทบัญญัติในมาตรา 220 ว่า แม้แต่การวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเอง ก็ยังเป็นความผิด

โดยมาตรา 220 ระบุว่า "ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท"

ส่วนประเด็นที่เป็นดราม่าว่าเหตุใดจึงมีการระบุโทษของ "แอมมี่" ว่าอาจถึงขั้นประหารชีวิต และมีการไปขยายผลทำไอโอกันต่อว่า แค่เผาพระบรมฉายาลักษณ์ มีโทษถึงประหารชีวิตเชียวหรือ ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่ดราม่ากัน เพราะองค์ประกอบความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ในบางกรณี มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการเผาพระบรมฉายาลักษณ์

ย้อนไปดูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 จะพบว่ากฎหมายกำหนดให้การวางเพลิงเผาทรัพย์ 6 ประเภท มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ได้แก่

1. โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย

2. โรงเรือน เรือ หรือแพอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า

3. โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม

4. โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา

5. สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน หรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ

6. เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ

สำหรับโทษนั้น กำหนดระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี แล้วแต่ความหนักเบาของความผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้น

จากบทบัญญัติเรื่องการวางเพลิงเผาทรัพย์ 6 ประเภท ถือว่าเป็น "บทหนัก" ของความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ โทษสูงสุดถึงประหารชีวิตนี้ เมื่อดูในรายละเอียด ก็จะพบว่ากฎหมายบัญญัติไว้เพื่่อป้องกันหรือป้องปรามการลอบวางเพลิง ที่จะไปกระทบหรือสร้างความเสียหายให้กับสาธารณะ หรือบุคคลทั่วไป ทรัพย์และสถานที่ต่างๆ ที่กำหนดใน 6 ประเภทนี้ ล้วนเป็นทรัพย์สินสาธารณะ และสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมตัวของประชาชนจำนวนมากทั้งสิ้น

ประเด็น คือ ตำรวจแจ้งข้อหาตามมาตรา 218 กับ "แอมมี่" หรือไม่ เพราะมีแง่มุมที่ต้องตีความเช่นกันว่า การเผาทำลายป้ายที่ใช้ประดับพระบรมฉายาลักษณ์ จัดเป็นโรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ หรือว่าบริเวณที่เผา ถือเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือนที่มีคนอยู่อาศัยหรือไม่ ซึ่งหมายถึงเรือนจำที่มีผู้ต้องขังอยู่เป็นจำนวนมาก ถือเป็นประเด็นที่ตำรวจ อัยการ และศาล จะต้องพิจารณาต่อไป

หากทรัพย์ที่ "แอมมี่" เผา ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 218 ก็จะไปเข้าองค์ประกอบมาตรา 217 คือ ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่ายังไม่นับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ถูกแจ้งข้อหาพร้อมกันจากเหตุการณ์นี้

ความร้ายแรงของพฤติการณ์เผาสถานที่ราชการ สามารถเทียบเคียงได้กับคดีเผาศาลากลางจังหวัดหลายจังหวัดของผู้ชุมนุมกลุ่ม "คนเสื้อแดง" เมื่อปี 2553 ปรากฏว่าคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ เช่น คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยบางคน แล้วลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่จำเลยอีกหลายๆ คน แม้ไม่โดนโทษประหารชีวิต แต่ก็โดนลงโทษสถานหนัก

สะท้อนให้เห็นว่าความผิดในลักษณะเผาสถานที่ราชการ หรือสถานที่สาธารณะ เป็นความผิดที่มีอัตราโทษสูง ในทางกลับกัน หากหลักฐานไม่มีวามชัดเจนมากพอ ศาลก็ยกฟ้องได้เช่นกัน เหมือนคดีเผาศาลากลางอีกหลายๆ จังหวัด ที่ฝ่ายตำรวจและอัยการไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจน อย่างคดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ศาลฎีกาก็ยกฟ้อง เนื่องจากมีอัตราโทษสูง จึงต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน ปราศจากข้อสงสัย

logoline