svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทส.มอบปะการังเทียมให้เครือข่ายชุมชนดูแลและปกป้อง

26 กุมภาพันธ์ 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วราวุธ" มอบปะการังเทียมให้กับเครือข่ายชุมชน มั่นใจชุมชนคือกำลังสำคัญ ที่จะช่วยปกป้องดูแลปะการังให้คงอยู่อย่างยั่งยืน พร้อมนำทีมดำน้ำสำรวจฐานเกาะตัวอ่อนปะการัง และปะการังเทียมรูปทรงโดม จ.พังงา

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 นายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)นำทีมผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมช่วยเหลือแก้ปัญหาสำคัญเร่งด่วนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดพังงาพร้อมเป็นประธานมอบปะการังเทียมให้กับเครือข่ายชุมชน จังหวัดพังงาเพื่อสนับสนุนงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งได้นำปะการัง 3DCement Printing จัดวางใต้ท้องทะเลเป็นเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลและเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำในจังหวัดพังงาภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทส.มอบปะการังเทียมให้เครือข่ายชุมชนดูแลและปกป้อง


ในการนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นประธานมอบปะการังเทียมให้กับเครือข่ายชุมชนในพื้นที่จ.พังงา ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลซึ่งในวันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2564) ตนตั้งใจลงพื้นที่เขาหลัก จังหวัดพังงาเพื่อติดตามแหล่งปะการังธรรมชาติและจุดจัดวางปะการังเทียมซึ่งจากรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ทราบว่าจังหวัดพังงามีพื้นที่แนวปะการังประมาณ 26,126 ไร่สภาพแนวปะการังส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย ทั้งจากกิจกรรมมนุษย์และโดยธรรมชาติซึ่งทาง ทช. ได้ติดตามและฟื้นฟูมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดวางปะการังเทียมซึ่งในพื้นที่เขาหลัก จังหวัดพังงานั้นได้เริ่มดำเนินการจัดวางปะการังเทียมรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ปี 2556ซึ่งผลก็เป็นที่น่าพอใจ พบสัตว์ทะเลเข้ามาอยู่อาศัยปะการังมีพื้นที่ยึดเกาะและอยู่อาศัย รวมทั้ง เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้และเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวให้กับจังหวัด อย่างไรก็ตามภายหลังการจัดวางการดูแลต่อจากนั้น ก็ต้องอาศัยชุมชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการช่วยกันดูแลรักษา  ดังนั้นการจัดงานในวันนี้เหมือนเป็นการส่งมอบปะการังเทียมให้กับชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลซึ่งตนเชื่อมมั่นว่า พี่น้องประชาชนในพื้นที่สามารถดูแลรักษาได้อย่างแน่นอน


ทส.มอบปะการังเทียมให้เครือข่ายชุมชนดูแลและปกป้อง

"ปะการังเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหว อ่อนแอต้องการสภาพแวดล้อมที่เฉพาะเหมาะสมการดูแลปะการังไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากเข้าใจในธรรมชาติของปะการังชุมชน คือกำลังเสริมที่สำคัญของธรรมชาติ ที่จะช่วยปกป้องดูแลปะการังให้คงอยู่อย่างยั่งยืน"

ทส.มอบปะการังเทียมให้เครือข่ายชุมชนดูแลและปกป้อง

สำหรับวันนี้ตนได้ร่วมดำน้ำกับเจ้าหน้าที่เพื่อสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศปะการังใต้ทะเล รวมถึงสังเกตการณ์ การจัดวางฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง 3DCement Printing จำนวน 7 ชุด และปะการังเทียมรูปทรงโดมเพื่อเป็นการส่งเสริมพื้นที่ท่องเที่ยวดำน้ำลดผลกระทบความเสียหายของแนวปะการังจากกิจกรรมดำน้ำ และเพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดพังงาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำระดับโลก อีกด้วย



                ด้านนายโสภณทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ร่วมกับหลายภาคส่วนในการบูรณาการการทำงานรวมถึง การพัฒนานวัตกรรมในงานด้านการฟื้นฟูปะการัง ซึ่งที่ผ่านมา ทช.ได้ดำเนินการจัดทำและวางปะการังเทียมโดยใช้วัสดุหลากหลายรูปแบบ สำหรับครั้งนี้ ทช.ร่วมมือกับบริษัทเอสซีจี ซีเมนต์ จำกัด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเทคโนโลยี 3DCement Printing มาดำเนินการออกแบบและทดลองวัสดุคอนกรีตสำหรับนำไปใช้ในงานด้านการฟื้นฟูปะการรังธรรมชาติซึ่งเป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่มีความกลมกลืนเสมือนจริงใกล้เคียงกับธรรมชาติจัดวางในพื้นที่เขาหลัก จังหวัดพังงา 


ทส.มอบปะการังเทียมให้เครือข่ายชุมชนดูแลและปกป้อง

นอกจากนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีแนวนโยบายให้กรมฯ ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความพร้อมและมีแนวคิดในการอนุรักษ์ฟื้นฟูปะการัง ร่วมศึกษาและดำเนินงานในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน สุดท้ายนี้ กรมฯ ต้องขอขอบคุณพันธมิตรทั้ง 2 องค์กร ที่ร่วมศึกษา วิจัย และสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับกรมฯ มาอย่างดีโดยตลอด ซึ่งกรมฯ ได้วางแผนการทำงานอย่างต่อเนื่อง บนฐานความร่วมมือและการรับรู้ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรักษาทรัพยากรทางทะเลให้คงอยู่อย่างสมดุลและยั่งยืนตลอดไป

ทส.มอบปะการังเทียมให้เครือข่ายชุมชนดูแลและปกป้อง



ด้านนายชนะ ภูมี Vice President Cement and Construction Solution Business บริษัทเอสซีจี ซีเมนต์ จำกัดกล่าวถึงแนวคิดในความร่วมมือพัฒนารูปแบบวัสดุฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการังว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในครั้งนี้เป็นอีกแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยด้วยเทคโนโลยี 3D Cement Printing "เอสซีจี มุ่งสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิด Passion for Better Green Society" อันเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจผ่านการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทาง CE Circular Economy สำหรับครั้งนี้ ได้นำเอาเทคโนโลยีการขึ้นรูป 3DCement Printing ร่วมกับการพัฒนาสูตรปูนซีเมนต์ขึ้นเองด้วยวิธีการฉีดขึ้นรูปเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการังธรรมชาติซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และมีความกลมกลืนกับธรรมชาติเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ประเทศไทยจะใช้เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของไทยคืนความสมบูรณ์ให้แหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลหรือต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาเป็นแหล่งปะการังทดแทนสำหรับการท่องเที่ยวลดการรบกวนปะการังธรรมชาติให้มากที่สุด นายชนะ กล่าวทิ้งท้าย

logoline