svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

รู้จัก "โรคหลงตัวเอง" อาการแบบไหนเข้าข่าย พร้อมวิธีรักษา

17 กุมภาพันธ์ 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โรค NPD หรือ โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) คือ โรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดหนึ่ง โดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีลักษณะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ต้องการการยกยอชื่นชม และขาดความเห็นใจผู้อื่น มักหมกมุ่นอยู่กับการโอ้อวดตัวตนของตัวเอง เช่น ความสำเร็จ รูปร่างหน้าตา หรือฐานะทางการเงิน เชื่อว่าตัวเองนั้นเหนือกว่าผู้อื่น รวมทั้งมักคบค้าสมาคมกับบุคคลที่เห็นว่ามีความพิเศษหรือสำคัญมาก การกระทำดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและเคารพนับถือตัวเองให้มากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มีความนับถือตัวเองต่ำ ไม่สามารถทนการวิพากษ์วิจารณ์ได้ และมักอับอายหรือรู้สึกอ้างว้างเมื่อถูกปฏิเสธหรือได้รับการวิจารณ์ข้อเสียของตัวเอง

อาการของโรคหลงตัวเอง
ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคหลงตัวเองจะปรากฏสัญญาณหรือพฤติกรรมของโรค 5 ลักษณะ หรือมากกว่านั้น ดังนี้
มักยึดตัวเองเป็นสำคัญมากเกินไป เช่น หวังว่าผู้อื่นจะเห็นว่าตัวเองพิเศษหรือเหนือกว่าในด้านต่าง ๆ
มักหมกหมุ่นกับการคิดถึงความสำเร็จ อำนาจ ความร่ำรวย ความงาม หรือความรักในอุดมคติของตัวเอง
เชื่อว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ และบุคคลที่มีความพิเศษหรือสถานะทางสังคมที่สูงเทียบเท่ากันเท่านั้นถึงจะเข้าใจตน
ต้องการความสนใจ การยอมรับ และความชื่นชมจากผู้อื่น
คิดว่าสมควรได้รับอภิสิทธิ์ต่าง ๆ อย่างไม่มีเหตุผล
แสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น เพื่อให้ตนเองบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
ขาดความเห็นใจและนึกถึงผู้อื่น
มักริษยาผู้อื่น หรือเชื่อว่าคนรอบข้างอิจฉาตนเอง
มีความคิดหรือพฤติกรรมที่เย่อหยิ่ง จองหอง

รู้จัก "โรคหลงตัวเอง" อาการแบบไหนเข้าข่าย พร้อมวิธีรักษา


สาเหตุของโรคหลงตัวเอง
โรคหลงตัวเองยังไม่ปรากฏสาเหตุอย่างชัดเจน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ค่อนข้างซับซ้อนเช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ โรคหลงตัวเองอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดู ซึ่งนำไปสู่ภาวะดังกล่าวเป็นสำคัญ พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกตามใจมากเกินไปหรือละเลยการเอาใจใส่ลูก อาจทำให้เด็กเกิดความคิดและพฤติกรรมที่นำไปสู่โรคหลงตัวเองได้ รวมทั้งอาจเกิดความผิดปกติของสมองที่เกี่ยวเนื่องกับความคิดและพฤติกรรมดังกล่าว
โรคหลงตัวเองนับเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่แล้ว เด็กเล็กและวัยรุ่นอาจแสดงพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโรคนี้ แต่ไม่ได้พัฒนากลายเป็นโรคหลงตัวเองเสมอไป เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงออกตามวัย ทั้งนี้ ผู้ชายมักป่วยเป็นโรคหลงตัวเองมากกว่าผู้หญิง และจะเริ่มเป็นเมื่อเข้าช่วงวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น

การวินิจฉัยโรคหลงตัวเอง
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่ประสบความผิดปกติทางบุคลิกภาพต่าง ๆ จะเริ่มพบแพทย์เพื่อรับการรักษาในกรณีที่รู้สึกว่าอาการป่วยกำลังแทรกแซงและส่งผลกระทบต่อชีวิตตนเอง นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับบุคลิกภาพ โดยพิจารณาว่าปรากฏอาการที่เข้าข่ายพฤติกรรมของโรคหลงตัวเอง 5 ลักษณะหรือมากกว่านั้นตามที่กล่าวไปข้างต้นหรือไม่ ผู้ป่วยบางรายอาจได้ทำแบบวัดระดับบุคลิกภาพของโรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Inventory) ซึ่งประกอบด้วยคำถามจำนวน 40 ข้อ ทั้งนี้ แพทย์จะตรวจร่างกายร่วมด้วย เพื่อยืนยันว่าอาการที่ปรากฏนั้นไม่ได้เกิดจากการได้รับบาดเจ็บอื่น ๆ
การรักษาโรคหลงตัวเอง
ผู้ป่วยโรคหลงตัวเองจะได้รับการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาระยะยาวและทำโดยนักบำบัดที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความผิดปกติของบุคลิกภาพโดยตรง ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับยาที่สั่งจ่ายจากแพทย์ควบคู่กับการทำจิตบำบัด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
จิตบำบัด วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้คนรอบข้าง เข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดความคิดและพฤติกรรมของโรคหลงตัวเอง เช่น สาเหตุที่ทำให้อยากแข่งขัน ไม่เชื่อใจผู้อื่น หรือดูถูกผู้อื่น การทำจิตบำบัดต้องใช้เวลาหลายปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของคนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดจะได้รับประโยชน์จากการรักษา ดังนี้
ยอมรับและรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างตามความเป็นจริง รวมทั้งเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น
ยอมรับความสามารถและศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง ส่งผลให้สามารถรับคำวิจารณ์ผู้อื่นหรือเมื่อต้องประสบความล้มเหลวได้
ทำให้เข้าใจและสามารถจัดการอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น
เข้าใจและสามารถยอมรับเรื่องราวที่ส่งผลต่อความนับถือและความเชื่อมั่นตัวเอง
สามารถบอกได้ว่าต้องการบรรลุเป้าหมายที่ไม่สามารถเป็นไปได้ รวมทั้งยอมรับศักยภาพตัวเองที่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามจริง
การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ ผู้ป่วยโรคหลงตัวเองที่มีอาการรุนแรง โดยเกิดอาการหรือพฤติกรรมอื่นที่นอกเหนือไปจากอาการป่วยโรคหลงตัวเอง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เช่น มีอารมณ์เกรี้ยวกราด ทำร้ายตัวเอง หลงผิดไปจากความเป็นจริง ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

รู้จัก "โรคหลงตัวเอง" อาการแบบไหนเข้าข่าย พร้อมวิธีรักษา

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหลงตัวเอง
ผู้ป่วยโรคหลงตัวเองที่ไม่เข้ารับการรักษา อาจได้รับผลกระทบจากอาการป่วยได้ อาการป่วยของโรคอาจไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับสุขภาพกาย แต่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยผู้ป่วยจะมีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง มีปัญหาในการทำงานหรือเรียนหนังสือ ประสบภาวะซึมเศร้า ใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งมีความคิดและพฤติกรรมเสี่ยงฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีบุคคลรอบข้างป่วยเป็นโรคนี้ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและเข้ารับการบำบัดอาการอย่างถูกต้อง
การป้องกันโรคหลงตัวเอง
วิธีป้องกันโรคหลงตัวเองยังไม่ปรากฏแน่ชัด เนื่องจากไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคนี้ได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีบุคคลรอบข้างป่วยเป็นโรคหลงตัวเองสามารถบำบัดให้หายได้ โดยพาผู้ป่วยไปพบแพทย์และรับการบำบัดในกรณีที่ผู้ป่วยอายุยังน้อย ส่วนพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ดูแลผู้ป่วยควรเข้ารับการบำบัดเพื่อเรียนรู้วิธีสื่อสารและรับมือกับอารมณ์ของผู้ป่วย รวมทั้งรับคำปรึกษาจากนักบำบัดเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหลงตัวเองที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา อาจลองเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมที่มีต่อการรักษา โดยปฏิบัติ ดังนี้
เปิดใจและมุ่งมั่นไปที่รางวัลอันเป็นเป้าหมายของการรักษา
ควรเข้ารับการบำบัดตามกำหนดและรับประทานยาตามแพทย์สั่งจ่ายอย่างเคร่งครัด
หาข้อมูลเกี่ยวกับโรคหลงตัวเอง เพื่อจะได้เข้าใจอาการ ปัจจัยเสี่ยง และวิธีรักษาโรคดังกล่าวมากขึ้น
ควรเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพซึ่งเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น การใช้สารเสพติด โรคซึมเศร้า อาการวิตกกังวล และความเครียด เนื่องจากอาจนำไปสู่สภาวะอารมณ์และสุขภาพที่ไม่ดีได้
พยายามผ่อนคลายเพื่อรับมือกับความเครียด เช่น นั่งสมาธิ หรือเล่นโยคะ เป็นต้น
ควรตั้งเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตหลังเข้ารับการรักษา เนื่องจากช่วงพักฟื้นต้องใช้เวลานานจนกว่าจะหายเป็นปกติ การตั้งเป้าหมายจะช่วยให้ผู้ป่วยมีแรงกระตุ้น เพื่อตั้งใจทำตามเป้าหมายดังกล่าว

logoline