svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ศาลนัดฟังคำสั่ง 8 ก.พ. เพิกถอนปิดคลิปไลฟ์สด "ธนาธร" ปมวัคซีนโควิดพาดพิงสถาบันฯ หรือไม่

04 กุมภาพันธ์ 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดไต่สวนคำคัดค้านของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า กรณวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนไวรัสโควิดพาดพิงสถาบันพระหมากษัตริย์ หรือไม่

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำคัดค้านของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ได้ยื่นขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งให้ปิดกั้นการเผยแพร่คลิปการไลฟ์สดของนายธนาธร กรณีวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยื่นคำร้องต่อศาล
ในวันนี้ นายธนาธร ผู้คัดค้าน เดินทางมาศาลขึ้นเบิกความด้วยตัวเอง ขณะที่ฝ่ายดีอีเอส ผู้ร้อง มีข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ กับนายทศพล เพ็งส้ม ทนายความซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษากฎหมายให้ดีอีเอส ขึ้นเบิกความ
นายธนาธร ให้สัมภาษณ์ก่อนพิจารณาว่า วัตถุประสงค์ในวันนี้ ตนมาที่ศาลเพื่อขอคัดค้านใบคำสั่งจากกระทรวงดิจิตอลฯที่ขอให้ ปลดการไลฟ์เฟซบุ๊ก ทั้งในช่องทางเฟซบุ๊ก ยูทูป
เมื่อถามว่า ส่วนตัวคิดว่าการตั้งคำถามในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันสามารถใช้หลักการวิจารณ์สุจริตกล่าวอ้างต่อศาลได้หรือไม่ นายธนาธร กล่าวว่า ตนเห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองล้วนเป็นเรื่องของทุกคนในประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย ดังนั้นการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสุจริต โดยไม่ว่าร้ายพยาบาท เพื่อหวังดีต่อสังคม ย่อมเป็นสิ่งที่พลเมืองพึงกระทำได้

เมื่อถามว่าคิดว่าศาลจะใช้ดุลยพินิจที่ครอบคลุมถึงหลักการข้างต้นด้วยหรือไม่ นายธนาธรกล่าวว่า อันนี้ตนคงก้าวล่วงศาลไม่ได้ เพราะเห็นว่าสิ่งที่เราวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลให้คนไทย เป็นสิ่งที่พวกเราทำด้วยความประสงค์ดี ก็หวังว่าศาลคงจะเข้าใจ ตนคงไม่ไปก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาล
เมื่อถามว่าจนถึงตอนนี้แล้วมองว่าขอบเขตความผิด ม.112 ในประเทศไทย มีความต่างจากประเทศที่ปกครองด้วยราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง นายธนาธร กล่าวว่า ใน ม.112 เป็นมาตราที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างแน่นอน เพราะสิทธิสิทธิมนุษยชนนั้นคือการมีเสรีภาพทางการแสดงออก และม.112 มีโทษที่สูงเกินไปด้วย จึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขกฎหมาย ม.112
เมื่อถามว่าคิดว่าอะไรเป็นตัวแปรที่ทำให้สัดส่วนโทษทางอาญาของมาตรา 112 ในไทยรุนแรงกว่าชาติอื่น ที่ยังคงมีระบบกษัตริย์ นายธนาธร กล่าวว่า ตรงนี้ตนคงไม่ทราบ ต้องไปถามนักกฎหมาย
เมื่อถามว่าในวันนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี จะเดินทางมาไปแจ้งความเพิ่มเติม นายธนาธร กล่าวว่า เชิญครับเพราะตนเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ใจ ขอเรียนพ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่างนี้ว่าจนถึงวันนี้รัฐบาลไทยก็ยังไม่สามารถให้คำสัญญากับประชาชนได้ว่าตกลงวัคซีนที่จัดซื้อจัดหาได้แล้วจะมีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ เอกสารทางราชการก็ระบุไว้ชัดเจนว่าการหาวัคซีนให้คนไทยล่าช้าไป 1 เดือน ความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นแสนล้านบาท อย่าลืมว่าเมื่อไม่นานมานี้เองรัฐบาลยังยืนยันว่าจะฉีดวัคซีน 50% ให้กับคนไทยภายใน 3 ปี แต่เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อไม่นานมานี้เอง เมื่อมีการตั้งคำถามจากประชาชนที่ต้องการเห็นการจัดหาวัคซีนให้กับคนไทยได้อย่างเร็วที่สุด ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องกลยุทธ์การจัดซื้อหาวัคซีนและการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยเป็นสิ่งที่พึงกระทำและตนอยากจะเห็นรัฐบาลให้คำสัญญาที่ชัดเจนว่าตกลงจะฉีดวัคซีนให้กับคนไทยได้จำนวนมากเท่าไหร่ในเวลาเท่าไหร่ ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นความเป็นความตายของพี่น้องประชาชน คนที่หาเช้ากินค่ำ คนที่เป็นแรงงานนอกระบบไม่มีประกันสังคม ไม่มีความมั่นคงในชีวิตรอนานเป็นปีไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนกันแล้วอย่างอิสระเอลตั้งเป้าว่าจะฉีด วัคซีนให้ครบ 100% ให้ครบจำนวนประชากรในไตรมาสที่ 1 และวันนี้อังกฤษฉีดไปแล้ว 10 % อเมริกา 6-7 % ประเทศอินโดนีเซียก็เริ่มฉีดแล้ว ตนจึงเป็นกังวลเรื่องนี้ การมีวัคซีนเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ตราบใดที่เราฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในสังคมไม่ได้ เราก็ยังอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิด
ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ระบุว่า วันนี้เตรียมพยานหลักฐานมาพอสมควร แต่ต้องรอดูพยานหลักฐานฝั่งผู้กล่าวหาก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่มองว่าเรื่องนี้ ศาลไม่จำเป็นต้องไต่สวนก็ได้ เพราะเจตนาของนายธนาธรคือต้องการจะปกป้องประชาชนจากนโยบายที่อาจจะผิดพลาดของรัฐบาล
"ผมไม่รู้ว่าจะใช้เวลาไต่สวนนานเท่าไหร่ แต่ขอยืนยันในความบริสุทธิ์ใจ สิ่งที่พูดไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเพื่อปกป้องภาษีของประชาชน การสั่งซื้อวัคซีนจากแอสทราเซเนก้า เป็นเงินที่มาจากประชาชน ใช้ภาษีของประชาชน ดังนั้นการตรวจสอบการใช้เงินย่อมเป็นเรื่องที่พลเมืองพึงที่จะกระทำได้" นายธนาธร กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อถึงเวลา ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพร้อมสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่าย ฝ่ายผู้ร้องเสนอให้พิจารณาลับ แต่ศาลพิจารณาแล้วไม่เข้าองค์ประกอบการพิจารณาลับ จึงอนุญาตให้พิจารณาเปิดเผย และศาลระบุถึงการไต่สวนวันนี้เป็นการพิจารณาเนื้อหากระทบต่อความมั่นคงตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับความผิดตาม ป.อาญา ม.112 จากนั้นได้เปิดคลิปไลฟ์สดดังกล่าวของนายธนาธร หัวข้อ "วัคซีนพระราชทาน: ใครได้ใครเสีย?" ให้ชมในห้องพิจารณาคดีตั้งแต่ต้นจนจบ
จากนั้น นายธนาธร ขึ้นเบิกความมีเนื้อหาสรุปได้ว่า เหตุผลที่ออกมาไลฟ์สด ตนเป็นห่วงเรื่องการจัดการวัคซีนของไทย ควรฉีดให้กับประชากรอย่างทั่วถึงรวดเร็ว กลยุทธ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาลไม่เหมาะสม ครอบคลุมประชากรน้อยเกินไป แผนการฉีดวัคซีนล่าช้า ทำให้ประเทศเสียหายเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท ตามเอกสารแนบท้ายการประชุม ครม. เรื่องโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ประกอบกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชี้แจงต่อกรรมาธิการสภาฯ ว่าจะฉีดวัคซีน 50% ได้ภายใน 3 ปี ไม่มีประเทศไหนทำอย่างนี้ หมายความว่าคนไทยต้องอยู่กับโควิดนานถึง 4 ปี การมีวัคซีนคือการเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
ส่วนกรณีที่นายธนาธรพูดถึงในหลวง ร.10 ถือหุ้นในบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์นั้น นายธนาธร ระบุมีเอกสารหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงการถือหุ้น การจัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกามีสัญญา 3 ส่วน คือ 1.รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตราฯ จำนวน 26 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชนไทยได้ราวเดือนพฤษภาคม 2.สัญญาบริษัทแอสตราฯ กับบริษัทสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีน 200 ล้านโดส เพื่อกระจายขายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3.รัฐบาลสนับสนุนทางการเงินให้บริษัทสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีน

นายธนาธร ระบุด้วยว่า วัคซีนทั้งหมด 21.5 เปอร์เซ็นต์ มาจากบริษัทแอสตราฯ 20 เปอร์เซ็นต์ กับบริษัทซิโนแวค 1.5 เปอร์เซ็นต์ ไม่กระจายความเสี่ยง บริษัทที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลต้องมีการคัดเลือกโปร่งใส ผู้ถือหุ้นเป็นในหลวง ประเด็นมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากข่าวทางยุโรปมีกรณีบริษัทผลิตยาส่งมอบวัคซีนไม่ทัน ถ้าความเสี่ยงดังกล่าวเกิดขึ้นกับไทย ใครจะรับประกันพระเกียรติ รัฐบาลกล้ารับผิดชอบหรือไม่ ถ้าเป็นตนจะไม่เลือกบริษัทสยามไบโอฯ รัฐบาลควรคำนึง ไม่ควรเอาพระเกียรติเข้ามาเสี่ยง
ทั้งนี้ ศาลได้ถามนายธนาธรถึงการใช้คำว่าวัคซีนพระราชทาน นายธนาธร ชี้แจงว่า ตอนแรกคนเข้าใจเรื่องนี้ว่าเป็นวัคซีนพระราชทาน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พูด และหน่วยงานรัฐเป็นคนใช้คำนี้ ตนไม่ได้เป็นผู้เริ่มใช้ การที่หน่วยงานรัฐนำคำนี้มาใช้จึงไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ ถ้าเกิดความผิดพลาดจะกระทบสถาบันฯ ได้
ต่อมา ข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการของดีอีเอส พยานฝ่ายผู้ร้องขึ้นเบิกความ มีเนื้อหาสรุปที่มาของการตรวจสอบเรื่องนี้ เนื่องจากมีผู้ไปแจ้งความกับตำรวจ ปอท. ให้ดำเนินคดีนายธนาธรในความผิดตาม ป.อาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเมื่อพิจารณาข้อมูลต่างๆ แล้วก็ได้รับอนุมัติจาก รมว.ดิจิทัลฯ ให้นำพยานหลักฐานต่างๆ มายื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลอาญามีคำสั่งระงับปิดกั้น เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 URL โดยเห็นว่าการไลฟ์สดของนายธนาธรเป็นการชี้นำให้ประชาชนตั้งคำถามกับในหลวงให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการถือหุ้นบริษัท มีผลกระทบทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นในสื่อสาธารณะ
ส่วน นายทศพล เพ็งส้ม พยานฝ่ายผู้ร้องอีกปาก เบิกความถึงการฟังไลฟ์สดของนายธนาธรแล้วเห็นว่ามีการบิดเบือน จึงไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ปอท. ให้ดำเนินคดีตาม ป.อาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากนายธนาธรพยายามบิดเบือนว่า รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิดจากบริษัทแอสตราฯ แล้ว จากนั้นบริษัทดังกล่าวจึงไปว่าจ้างบริษัทสยามไบโอฯ ให้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งนายธนาธรชี้นำให้เห็นว่าถ้าหากบริษัทสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีนโควิดล่าช้า หรือไม่ได้คุณภาพ ก็จะเกิดความเสียหายกับผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงว่าตามกฎหมายแล้ว กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจะต้องรับผิดชอบมากกว่า
ภายหลังการไต่สวนคำคัดค้านเสร็จสิ้นแล้ว ศาลกำหนดนัดฟังคำสั่งคดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น. โดยนายธนาธร เปิดเผยว่า ไม่ได้วิตกกังวลอะไร ศาลจะวินิจฉัยตัดสินอย่างไรก็เป็นอำนาจของท่าน เราทำตามหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ ได้ชี้แจงเหตุผลและพยานหลักฐานต่างๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

logoline